นายกรัฐมนตรีประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนกลางและคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2559) เวลา 14.30 น. ณ ห้องเชียงแสน อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนกลางและคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยมี ผู้บริหารส่วนราชการ ตัวแทนภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) และมีผลการพิจารณา ดังนี้
ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ไทย ลาว จีนผ่านเส้น R3A โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว และมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินงานโครงการดังกล่าว พร้อมกับให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตล้านนาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ต่อปี
ด้านการค้าการลงทุน ได้แก่ 1. การติดตามความคืบหน้าการพัฒนาด่านชายแดนสากลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อการพัฒนาด่านชายแดนสากลห้วยโก๋น ให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้มาตรฐานสากล รองรับการขยายตัวทางการค้าชายแดน 2. การยกระดับจุดผ่อนปรนการค้า ด้านบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เพื่อยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และเพื่อเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้าไทยจำนวนหลากหลายมากขึ้นไปยัง สปป.ลาว รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของประเทศไทยสู่ภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขงและจีนตอนใต้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดปรับปรุง พร้อมพัฒนาทั้ง 2 ด่านตามที่หอการจังหวัดได้นำเสนอ โดยเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม สำหรับการสร้างถนนจุดผ่อนปรนการค้า ด้านบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาจุดผ่านแดนทางฝั่ง สปป.ลาว 3. การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 โดยขอรับสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อสร้างฐานข้อมูลโครงการของอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณตามที่เสนอขอรับการสนับสนุน โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นหน่วยงานในการจัดทำแผนแม่บทฯ พร้อมมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจัดทำความเชื่อมโยง ชูจุดเด่นด้านวัตถุดิบเรื่องอาหารของแต่ละจังหวัด พร้อมกับให้ต่อยอดโครงการพระราชดำริในพื้นที่ให้ขยายต่อไป
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ได้แก่ การเร่งรัดขยายทางหลวงหมายเลข 103 (อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ – อำเภองาว จังหวัดลำปาง) โดยขอให้สนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางสัญจรไปมาอย่างสะดวก ลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงลดความแออัดของการจราจรในเส้นทางหลวงกรุงเทพ – ลำปาง – เชียงใหม่ ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างถนน พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ โดยขอรับงบประมาณในการสนับสนุนโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรจังหวัดแพร่ จำนวน 244 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 68,344,800 ล้านบาท ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการให้สามารถดำเนินการ เน้นการดำเนินโครงการต้องแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำปัญหา อุปสรรคที่ผ่านมาของประเทศมาดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้ โดยจะมองจากศักยภาพภายในสู่ภายนอก ผ่านการทำงานจากข้างบนลงข้างล่าง และจากข้างล่างขึ้นข้างบน ซึ่งรัฐบาลและประชาชนต้องร่วมมือกันทำงานภายใต้รูปแบบของประชารัฐ โดยรัฐบาลพร้อมเสริมสร้างศักยภาพ และทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายพร้อมกับการบูรณาการการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อดูแลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง
สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ นอกเหนือจากการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีแล้ว งบประมาณตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานจะต้องนำเสนอเป็นกลุ่มการทำงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนและหารือก่อนนำเสนอแผนการของบประมาณเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบประมาณที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งรัฐบาลจะมีการปรับแผนงบประมาณค้างจ่ายแต่ละกระทรวงมาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมภายในปี 2560 ให้มากที่สุด
ข่าวเด่น