กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยขณะนี้คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปเข้าใจการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ถูกต้อง ผลสำรวจล่าสุดในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 พบว่าร้อยละ 59 เข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี พบสูงสุดในกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน ชี้ผลเสียอาจทำให้รู้ตัวเมื่อสายเกินแก้ แนะหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี คือดูแลสุขภาพออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้ให้ความสำคัญต่อการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างถูกต้อง เป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วยให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนกลุ่มวัยต่างๆ ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่ และได้รับการป้องกันหรือรักษาได้อย่างถูกต้องก่อนที่อาการจะลุกลามรุนแรง จากข้อมูลรายงานของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดในปี 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 187 ล้านกว่าครั้ง มากกว่าปี 2556 ประมาณ 5 ล้านครั้ง มีผู้ป่วยนอนพักรักษาในโรงพยาบาล 19 ล้านกว่าคน เพิ่มจากปี 2556 ประมาณ 2 ล้านคน
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบว่ามีประชาชนบางส่วนยังเข้าใจการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ถูกต้อง กรม สบส.ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปครอบคลุม 4 ภาครวมทั้งในกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 512 คน เป็นชาย ร้อยละ 42 หญิง ร้อยละ 58 ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81 ให้ความคิดเห็นว่าการตรวจสุขภาพประจำปีมีผลดี ทำให้รู้ภาวะสุขภาพของตนเอง แต่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59 ที่เข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี อาชีพที่เข้าใจผิดมากที่สุด ได้แก่ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 68 รองลงมาคืออาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 66 และธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 63 โดยภาคใต้คิดเช่นนี้สูงที่สุดร้อยละ75 รองลงมาคือภาคกลาง และกรุงเทพฯ/ปริมณฑล ร้อยละ 60 เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีความเข้าใจผิดสูงอันดับ 1 ร้อยละ 61 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษาร้อยละ 60
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า การตรวจสุขภาพประจำปี มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมากกว่ามุ่งรักษา แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะปลอดจากโรคภัย เพียงช่วยให้ตรวจพบโรคหรือได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารหวาน ไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุรี่ เป็นต้น คนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ควรตรวจสุขภาพประจำปีเช่นกัน เพื่อตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ค้นหาโรค และความผิดปกติที่อาจแอบแฝงอยู่แต่ยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคสูง โรคตับ หากพบจะสามารถปรับแก้พฤติกรรมได้ทันท่วงที วิธีนี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย และอาการรุนแรงของโรคลงอย่างได้ผล ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนแล้วจึงค่อยมารักษา เพราะบางโรคเมื่อเป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาควบคุมอาการตลอดชีวิต เช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
“หัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี อยู่ที่การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีจะครอบคลุม ทั้งการซักประวัติคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และให้คำแนะนำเพื่อปรับแก้พฤติกรรม กำจัดปัจจัยเสี่ยงป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต” นายแพทย์ประภาสกล่าว
ข่าวเด่น