ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนเที่ยวป่าช่วงหน้าหนาวระวังป่วย'โรคสครับไทฟัส' มีไข้ มีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้


 


กรมควบคุมโรค เตือนช่วงหน้าหนาว นักท่องเที่ยวเข้าป่าระวังตัวไรอ่อนกัด ซึ่งเป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส พร้อมแนะกางเต๊นท์นอนในป่าควรทำบริเวณที่พักให้โล่งเตียน แต่งกายมิดชิด ที่สำคัญภายใน 2  สัปดาห์หลังกลับจากเที่ยวป่า หากป่วยมีไข้ขึ้นสูงปวดศีรษะ และมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเข้าป่า หลังปีนี้พบป่วยแล้ว 5,779 ราย เสียชีวิต 1 ราย 
          
นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวมักมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสกับอากาศเย็นตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น บนยอดดอยหรือตามป่าเขา เป็นต้น จึงขอแนะนำประชาชนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ โรคนี้มีตัวไรอ่อนซึ่งอาศัยอยู่ในหนูเป็นพาหะ ติดต่อทางบาดแผลที่ถูกตัวอ่อนของไรอ่อนกัด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ใหญ่ตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป และสามารถพบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว  มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องเที่ยวป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร
          
จากรายงานสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม - 12 พ.ย. 2559 มีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 5,779 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับคือ 45-54 ปี (18.17%) 35-44 ปี (16.21%) และ 25-34 ปี (14.90%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก เชียงใหม่ และพังงา  พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้
          
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ในป่าทึบจะมีตัวไรอ่อนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ และกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งคน ส่วนใหญ่จะถูกกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ โดยผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวในทันทีว่าป่วยเป็นโรคนี้ แต่จะแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ พบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่มียารักษาให้หายได้ โดยการกินยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ ดังนั้นหลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
          
ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันโรคสครับไทฟัสสามารถทำได้โดย สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง หากตั้งแคมป์ไฟหรือกางเต๊นท์นอนในป่า  ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำให้สะอาด และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันทีเพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ย. 2559 เวลา : 07:44:18

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:18 pm