สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ หลังฝนลดน้อยลงกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าระดมเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง
นายทองเปลว กองจันทร์รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิด เผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมภาคใต้เป็นอย่างมากได้สั่งการ ให้กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 14, 15, 16 และ 17 ซึ่ง รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ไปจนถึง จ.นราธิวาส ให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ พร้อมด้วยรถน้ำ สำหรับนำน้ำสะอาดไว้แจกจ่ายประชาชน ในกรณีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ใช้การไม่ได้หรือมีสภาพขุ่นเนื่องจาก ถูกน้ำท่วม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด
สถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ สรุปได้ดังนี้
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ อ.บางสะพาน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ทั่วไประดับน้ำท่วมแห้งแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขังที่ลุ่มบางแห่ง
การ ให้ความช่วยเหลือ โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และขนาด 5 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง
จังหวัดชุมพร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.ท่าแซะ และ อ.เมือง บริเวณผิวจราจรถนนสายเอเชียฝั่งขาขึ้น หน้าสถานีขนส่งชุมพรเมืองใหม่ ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในคลองชุมพร บริเวณบ้านวังไผ่ สถานี X.53A มีระดับน้ำ 7.86 ม. ซึ่งลดลงต่ำกว่าตลิ่งอยู่ที่ 1.48 ม. ส่วนระดับน้ำบริเวณคลองท่าตะเภา คลองสวี คลองตะโก และคลองหลังสวน ยังมีน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่บางแห่งที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 20 – 40 ซม. คาดว่าระดับน้ำในคลองสายหลักต่างๆ จะเริ่มลดลง ถ้าหากไม่มีฝนตกบริเวณต้นน้ำเพิ่มเติม
การ ให้ความช่วยเหลือ โครงการชลประทานชุมพร ได้ประสานงานกับทางจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนราษฎรเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราษฎรที่อยู่บริเวณลำห้วย ลำคลอง และทั้งนี้ได้มีการใช้ประตูระบายน้ำคลองท่าแซะ ประตูระบายน้ำหัววัง ประตูระบายน้ำพนังตัก ประตูระบายน้ำสามแก้วใหม่ ประตูระบายน้ำท่าตะเภา และแก้มลิงหนองใหญ่ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณฝนลดลง ระดับน้ำที่อ.พระแสง และ อ.เคียนซา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร ส่วน อ.พุนพิน ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง และจะขึ้น-ลง ตามอิทธิพลของน้ำทะเล
จังหวัดนครศรีธรรมราช ปริมาณน้ำในคลองท่าดีลดลง และระดับน้ำในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ คลองระบายน้ำสายต่างๆ มีระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ยังมีน้ำท่วมขังระดับน้ำสูงประมาณ 0.60 – 0.80 ม.
การ ให้ความช่วยเหลือ สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ รวม 54 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 52 เครื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้อำเภอ เทศบาล อบต.ต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
จังหวัดตรัง ยังมีน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.ห้วยยอด ระดับน้ำในแม่น้ำตรังที่ไหลผ่าน บ้านท่าประดู่ อ.ห้วยยอด มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่บ้านท่าจีน อ.เมือง ยังคงสูงกว่าตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุดภายใน วันนี้ และทรงตัวตามลำดับถัด และมีพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่ไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ ปัจจุบันระดับน้ำบริเวณต้นน้ำแม่น้ำตรังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
การ ให้ความช่วยเหลือ โครงการชลประทานตรังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 2 นิ้ว 4 เครื่อง ในพื้นที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง พร้อมทั้งได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง ไปติดตั้งในพื้นที่น้ำท่วมบริเวณวัดประสิทธิชัย
จังหวัดพัทลุง พื้นที่น้ำท่วมขังและพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาบสงขลาจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 4 – 5 วัน
การให้ความช่วยเหลือ โครงการชลประทานพัทลุงติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง
จังหวัดสงขลา เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่จังหวัดสงขลา ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ยังไม่ลดลง ปัจจุบันสถานการณ์บริเวณพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ (อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สทิงพระ) ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำในชุมชน แนวโน้มยังทรงตัว แต่ถนนสายหลักและพื้นที่เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบ และพื้นที่ส่วนใหญ่ได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
การ ให้ความช่วยเหลือ โครงการชลประทานสงขลา สำนักงานชลประทานที่ 16 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในเขตพื้นที่ จังหวัดสงขลา รวม 18 เครื่อง แยกเป็น ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 15 เครื่อง และขนาด 10 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง ส่วนในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว 4 เครื่อง ขนาด 10 นิ้ว 2 เครื่อง และเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 1 เครื่อง
ข่าวเด่น