สภาวะตลาดวันที่ 09 ธันวาคม 2559 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,164.90-1,170.66 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,800 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,850 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFZ16 อยู่ที่ 19,850 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 60 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,910 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 16.10 น.ของวันที่ 09/12/16)
แนวโน้มวันที่ 13 ธันวาคม 2559
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ประจำเดือนลงสู่ 6.0 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้า จากระดับ 8.0 หมื่นล้านยูโรในขณะนี้ แต่อีซีบียังเลือกที่จะขยายระยะเวลาของโครงการซื้อพันธบัตรออกไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้าจากเดือนมีนาคมด้วย ร่วมทั้งสงวนสิทธิที่จะเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ ถ้าหากแนวโน้มเศรษฐกิจย่ำแย่ลง การต่ออายุโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 9 เดือนซึ่งนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ได้กดดันราคาทองคำให้อ่อนตัวลงตามสกุลเงินยูโรที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยถูกลดความน่าสนใจลง เมื่อทางการจีนเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แสดงถึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนที่กำลังมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนเพิ่มขึ้น 3.3%มากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นสู่ 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2559
ทั้งนี้ นักลงทุนได้เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม เมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอาจจะอยู่ใกล้จุดที่ควรปรับขึ้น โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ควรเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เพราะว่าการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเชื่องช้าจะส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจังหวะเวลาที่รวดเร็วยิ่งขึ้นในช่วงต่อมา สำหรับมุมมองต่อราคาทองคำนั้น ประเมินว่าหากราคาทองคำขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,181-1,189 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถผ่านไปได้ ทำให้ราคาเกิดการอ่อนตัวลง ซึ่งการแกว่งตัวของราคาทองคำยังถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนระยะสั้นเข้าซื้อเก็งกำไร
กลยุทธ์การลงทุน สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำในมือ แนะนำให้ลงทุนระยะสั้นโดยรอซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับที่ 1,157 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้น โดยราคาทองคำมีลักษณะการแกว่งตัวในระยะสั้นเพื่อสะสมกำลัง โดยมีการทรงตัวรักษาระดับไว้ น่าจะพอทำให้ในระยะสั้นนี้ราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบ โดยหากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านได้อย่างแข็งแกร่ง นักลงทุนยังต้องระมัดระวังแรงขายทางเทคนิคและนักลงทุนควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาหลุดบริเวณแนวรับ เพื่อลดความเสียหายของพอร์ทการลงทุน ในขณะที่นักลงทุนที่มีทองคำในมือ ให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,181-1,189 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วรอไปซื้อคืนบริเวณแนวรับสำคัญ
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,157 (19,500บาท) 1,142 (19,240บาท) 1,135 (19,120บาท)
แนวต้าน 1,189 (20,040บาท) 1,198 (20,200บาท) 1,214 (20,460บาท)
GOLD FUTURES (GFZ16)
แนวรับ 1,157 (19,620บาท) 1,142 (19,370บาท) 1,135 (19,250บาท)
แนวต้าน 1,189 (20,160บาท) 1,198 (20,320บาท) 1,214 (20,600บาท)
ข่าวเด่น