+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ความคืบหน้าล่าสุด บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เริ่มดำเนินการแจ้งกลุ่มลูกค้าว่าจะมีการปรับลดปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 รวมถึง รัสเซีย ที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานได้มีการประชุมกับบริษัทน้ำมันในประเทศไปเมื่อวานนี้เรื่องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ตามที่ได้ตกลงไว้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการปรับลดของผู้ผลิตแต่ละรายยังอยู่ภายใต้การดำเนินการ - อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ หลังได้รับแรงกดดันจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6 สัปดาห์ในรอบ 7 สัปดาห์ที่ผ่านมาสู่ระดับ 66.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน - ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินอื่น ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่มีการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาตั้งแต่ปี 2008 และคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีหน้า มากกว่าที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดการณ์ไว้ - ปริมาณการผลิตของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ประท้วงยุติการประท้วงและเตรียมเปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบที่ได้มีการปิดไปเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ส่งผลให้บริษัทน้ำมันของลิเบีย มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตแหล่งน้ำมันดิบ Sharara และ El Feel ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศได้เร็วนี้และส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นโดยรวมทั้งสิ้น 365,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลดน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น และแรงซื้อจากปากีสถานและแอฟริกาตะวันออก อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางที่กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและปริมาณการส่งออกจากญี่ปุ่นที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่น่าจับตามอง จับตาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตลงตามที่ได้ตกลงไว้ว่าหรือไม่ ล่าสุด บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เริ่มดำเนินการแจ้งกลุ่มลูกค้าว่าจะมีการปรับลดปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 และรัสเซียได้ทำการตกลงเบื้องต้นที่จะปรับลดกำลังการผลิตตามที่ได้มีการตกลงไว้แล้ว ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 4 สัปดาห์ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 483.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุด ส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 66.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน จับตาสถานการณ์ในลิเบีย หลังกลุ่มผู้ประท้วงยุติการประท้วงและเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบ ส่งผลให้บริษัทน้ำมันมีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตแหล่งน้ำมันดิบ Sharara และ El Feel ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศได้เร็วนี้และส่งผลให้ปริมาณการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 365,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น