+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังประเทศในและนอกกลุ่มโอเปกออกมาเปิดเผยว่า ได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงรวมแล้ว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แล้วยังคาดการณ์ว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตได้ถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ภายในสิ้นเดือน ม.ค. ทั้งนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ตกลงปรับลดอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ นอกจากนี้ นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย เผยว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียได้ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหมายความว่าซาอุดิอาระเบียได้ปรับลดกำลังการผลิตไปมากกว่าที่ได้ให้สัญญาไว้ที่ 486,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ทีระดับ 10.058 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+/- นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า นโยบายการจัดเก็บภาษีรายได้ธุรกิจ Border-adjusted corporate tax (BTA) ที่สมาชิกพรรค Republican ออกมาให้การสนับสนุน อาจจะผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ โดยมองว่าจะกระตุ้นการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ให้กลับมา และอาจนำไปสู่ภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดได้อีกครั้งในปี 2561
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2556 เป็นต้นมา โดยเริ่มเปิดดำเนินการเพิ่มถึง 29 แท่น ขึ้นมาแตะระดับ 551 แท่น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนแท่นที่เปิดดำเนินการสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 510 แท่น ทั้งนี้ ราวสองในสามของจำนวนแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นมาจากแหล่ง Permian ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบในชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ด้วยอุปทานในภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ยังคงมีแรงหนุนจากอุปสงค์จากประเทศอียิปต์และอุปทานในตะวันออกกลางที่ตึงตัว จากการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินของโรงกลั่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ด้วยอุปสงค์จากประเทศอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจากแผนการซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศอินโดนีเซียและการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังคงถูกกดดันด้วยอุปทานในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในระดับสูง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะสามารถทำตามข้อตกลงได้หรือไม่ โดยล่าสุดการประชุมเพื่อติดตามผลของการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 21-22 ม.ค. ส่งสัญญาณที่ดี เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลงแล้ว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลงที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.พ. 60 ทั้งนี้การประชุมเพื่อติดตามผลของข้อตกลงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 17 มี.ค. 60
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel กลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือนธ.ค. โดยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งมาสู่ระดับ 0.722 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังการปรับลดลงในสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งปรับลดลงมาสู่ระดับ 0.650 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการขาดแคลนไฟฟ้าฉุกเฉินและสถานที่กักเก็บน้ำมันที่ท่าเรือไม่เพียงพอ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ม.ค. อยู่ที่ 485.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. ราว 0.041 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 4.748 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 58 ประกอบกับ โรงกลั่นที่เริ่มปรับลดการกลั่น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง
ข่าวเด่น