- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเล็กน้อย หลังแตะระดับต่ำสุดในรอบสามเดือน จากความกังวลในเรื่องของอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
- ปริมาณแท่นขุดเจาะสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่แปดติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 617 แท่น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58
- ผู้ผลิต shale oil ในสหรัฐฯ มุ่งหน้าวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไปยังแหล่งผลิตอื่นๆ นอกเหนือจากหลุม Permian ในรัฐเท็กซัส เช่น รัฐนอร์ทดาโคตา รัฐโอคลาโฮมา และรัฐอื่นๆ ซึ่งสวนทางกับผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่มีความพยายามในการรักษาเสถียรภาพน้ำมัน ดิบ โดยการปรับลดกำลังการผลิตลง
- Rosneft ผู้ผลิตน้ำมับดิบรายใหญ่ของรัสเซีย เตือนว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกตัดสินใจไม่ขยาย ระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสงครามทางด้านราคาน้ำมันอีกครั้ง
+ Goldman Sachs มีความเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่ระดับ 57.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2 เนื่องจากเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงในระยะสั้น และปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงได้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง โดยสต๊อกน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 13.931 ล้านบาร์เรล ประกอบกับเวียดนามมีการนำเข้าน้ำมันเบนซินลดลงถึงร้อยละ 21.01 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย หลังได้รับแรงหนุนจากแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียเหนือ ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนปีนี้ ประกอบกับมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศเวียดนาม
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. นี้ เพื่อติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงติดตามตัวเลขปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. ได้มากกว่าในเดือนม.ค. หลังรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวต เผยว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 140% ของข้อตกลงที่จะปรับลดราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่กลุ่มโอเปกได้ปรับลดในเดือนม.ค. ที่ 93% ของข้อตกลง
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย เผยว่ารัสเซียสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราว 50% ของข้อตกลง หรือราว 150,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะปรับลดการผลิตลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนมี.ค. และปรับลดได้ตามข้อตกลง หรือ 300,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนเม.ย.
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะยังคงสูงต่อเนื่อง จากโรงกลั่นในประเทศยังคงอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 8.2 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 528.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์
ข่าวเด่น