สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมัน ดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 3.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
OPEC ระบุในรายงานประจำเดือน ก.พ. 60 ว่าปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศกลุ่ม OECD ในเดือน ม.ค. 60 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ระดับ 278 ล้านบาร์เรล อีกทั้งคาดว่า Non-OPEC ในปี พ.ศ. 2560 จะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน)
Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 14 มี.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 86,582 สัญญา อยู่ที่ 315,077 สัญญา ลดลงรายสัปดาห์สูงสุดเป็นประวัติการณ์
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14 แท่น อยู่ที่ 631 แท่น สูงสุดตั้งแต่ ก.ย. 58
Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 60 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบปี และจำนวนหลุมน้ำมันขุดเจาะแล้วแต่ยังไม่ผลิต (Drill But Uncompleted หรือ DUC) เดือน ก.พ. 60 เพิ่มขึ้น 91 หลุม อยู่ที่ 5,443 หลุม
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
Reuters รายงานเหตุระเบิดบริเวณแหล่งผลิต Oil Sand ในแคนาดา (กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Syncrude Canada Ltd. ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐ Alberta เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 60
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน ม.ค.-ก.พ. 60 ลดลง 8 % จากปีก่อน อยู่ที่ระดับ 3.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อัตราการกลั่นน้ำมันดิบช่วงเดียวกันยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.3 % อยู่ที่ 11.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน
EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค. 60 ลดลง 0.24 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์
ก่อน มาอยู่ที่ระดับ 528.2 ล้านบาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาปิดตลาดน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เมื่อปลายสัปดาห์ทรงตัวและเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ส่วนใหญ่ (6 รายจาก 10 ราย) คาดว่า OPEC จะขยายมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไปจนถึงช่วงปลายปี 60 อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากอุปทานน้ำมันยังมีเพียงพอ อาทิ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 อีกทั้ง Reuters รายงานมีการจัดส่งน้ำมันดิบมายังภูมิภาคเอเชียในเดือน มี.ค. 60 นี้ จากคาซัคสถาน แหล่งทะเลเหนือ (North Sea) บราซิลและสหรัฐฯ จะไหลเข้ามายังเอเชีย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 2 เท่า อยู่ที่ 45 ล้านบาร์เรล และคาดว่าน้ำมันดิบ Urals จากรัสเซีย ปริมาณ 10.5 ล้านบาร์เรล จะเข้ามาช่วง เม.ย.- มิ.ย. 60 ทั้งนี้ให้จับตาเงินทุนไหลออก (Fund Flows) จากตลาดน้ำมัน โดยธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหันมาใช้นโยบายตึงตัวทางการเงิน ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 50-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ที่ผ่าน มาปรับลดลงเพราะอุปสงค์ในเอเชียไม่แข็งแกร่งโดยกรมศุลกากรของเวียดนามรายงาน ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 38 % และลดลงจากปีก่อน 21% มาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น 0.34 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 14.27ล้านบาร์เรล สูงที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ และสำนักวิเคราะห์ด้านพลังงาน Facts Global Energy (FGE) รายงานปริมาณนำเข้า น้ำมันเบนซินของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปี พ.ศ. 2560 จะลดลงสู่ระดับ 150,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคผลิตน้ำมันเบนซินมากขึ้น และคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในตะวันออกกลางจะมากกว่าความต้องการใช้ ในปี พ.ศ. 2562 ล่าสุด National Iranian Oil Refining & Distribution Co. บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านเปิดเผยว่าขณะนี้โรงกลั่นน้ำมัน Bandar Abbas (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำการปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต น้ำมันเบนซิน จาก 51,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 69,000 บาร์เรลต่อวัน มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ส่วนโรงกลั่น Arak (กำลังการกลั่น 250,000 บาร์เรลต่อวัน) เสร็จสิ้นการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเบนซินสู่ระดับ 100,000 บาร์เรลต่อวัน หากรวมกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่น Persian Gulf Star (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) คาดว่าอิหร่านจะสามารถพึ่งพาตนเองด้านน้ำมันเบนซิน ภายในปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม Platts ประเมินอุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียเดือน พ.ค. 60 จะตึงตัวขึ้นจากฤดูขับขี่ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. 60 (Memorial Day) ทำให้อินเดียหันไปเน้นส่งออกสู่สหรัฐฯ แทนสิงคโปร์ นอกจากนั้น Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 11 มี.ค. 60 ลดลง 0.14 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน หรือ 0.31% อยู่ที่ 10.65 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ตลาดน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลง เพราะความต้องการน้ำมันดีเซลของเวียดนามลดลงเช่นกันโดยกรมศุลกากรเวียดนาม รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลในเดือน ก.พ. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 3.2% และลดลงจากปีก่อน 9.2 % มาอยู่ที่ 3.0 ล้านบาร์เรล และ โรงกลั่นน้ำมันเอกชนในจีน 2 ราย บริษัท Hengyuan Petrochemical และ Shandong Dongming Petrochemical Group อยู่ระหว่างการขอโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจากสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress: NPC) และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 11 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.44 ล้านบาร์เรล หรือ 4.67% อยู่ที่ 9.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดีเซล 0.001 %S ในเอเชียมีแนวโน้มลดลงช่วงเดือน เม.ย. 60 เนื่องจากโรงกลั่นในเกาหลีใต้ปิดซ่อมบำรุง อีกทั้ง Kuwait National Petroleum Corp. ของคูเวตประกาศปิดทำการโรงกลั่น Chuaiba (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นการถาวรตั้งแต่เดือนเม.ย. 60 ทั้งนี้การปิดโรงกลั่นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Clean Fuel Project” ที่มีแผนปรับปรุงคุณภาพกระบวนการกลั่นจากเดิมที่ผลิตน้ำมันดีเซลชนิด 500 ppm เปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลชนิด 10 ppm ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 มี.ค. 60 ลดลง 0.14 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 12.88 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวเด่น