ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบเพิ่มต่อหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มน้อยกว่าคาด


  + ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 867,000 บาร์เรลน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มราว 1.4 ล้านบาร์เรล สาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เพื่อผลิตน้ำมันสำเร็จรูปชดเชยกับปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ปรับลดลง อย่างมากถึง 3.7 ล้านบาร์เรลและ 2.5 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
  + กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) ในเดือน มี.ค. คาดจะปรับลดลง  232,000 บาร์เรลต่อวันมาแตะระดับ 29.86 ล้านบาร์เรลต่อวันจากความร่วมมือของ 11 ประเทศสมาชิก โดยมีซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำ ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศลิเบียปรับลดลงต่อเนื่องหลังกลุ่มติดอาวุธยังคง ปิดกั้นการผลิตที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบSharara และ Wafa ทางตะวันตกของประเทศ
   + สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่าในปี 2559 ประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เป็นอันดับสาม หรือประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน สูงกว่าผลสำรวจในเดือน พ.ค. 59 ที่ลำดับเก้า ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี 2559 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยมีการส่งออกไปยัง 26 ประเทศทั่วโลกมากกว่าปีก่อนหน้าที่ส่งออกไปเพียง 10 ประเทศ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ดีภายในภูมิภาคและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกอบกับน้ำมันเบนซินคงคลังในญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 สู่ระดับ 10.82 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมในประเทศศรีลังกาและเวียดนาม ประกอบกับปริมาณการส่งออกจากประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมโรง กลั่นภายในประเทศ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
   ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  ติดตามการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งใน และนอกกลุ่มโอเปก โดยคาดการณ์ว่าผู้ผลิตในกลุ่มจะปรับลดปริมาณการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการ ผลิตหลังจากเดือนมิ.ย. 60 หลังนาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย เผยว่า อาจมีการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิต หากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกยังอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปกจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกด้วยเช่นกัน
   ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงสุดในประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 5.0 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 533.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 9.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิต น้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มฟื้นตัว  หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกเริ่มคลี่คลาย ลง ส่งผลให้กำลังการผลิตของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้  บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC)  ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตของลิเบียไปสู่ระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนเม.ย. 60

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 มี.ค. 2560 เวลา : 11:05:01

12-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 12, 2024, 1:21 pm