ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
BBL เผย Q1/60 กำไร 8.3 พันลบ.ใกล้เคียง Q1/59 แม้สินเชื่อหด 0.9%


ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 จำนวน 8,305 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1/59 ที่มีกำไร 8,317 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5%  และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 10.1% โดยเพิ่มขึ้นที่ค่าธรรมเนียมจากบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากบริการอิเล็กทรอนิกส์และการโอนเงิน 

         
ขณะที่กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและกำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 11,082 ล้านบาท ลดลง 13.8% จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกพันลดลง
          
ณ สิ้นเดือน มี.ค.60 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,923,953 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากสิ้นปี 59 โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือน มี.ค.60 มีจำนวน 77,772 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ 
          
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/60 มีการตั้งสำรองจำนวน 5,806 ล้านบาท ทำให้เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 124,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.5% ของเงินให้สินเชื่อ
          
ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิสำหรับงวด ก.ค.-ธ.ค.59 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1/60 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือน พ.ค.60 รวมเข้าเป็นเงินกองทุนแล้ว อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณ 19.0%, 17.2% และ 17.2% ตามลำดับ 
          
สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 มี.ค.60 มีจำนวน 385,910  ล้านบาท คิดเป็น 12.9% ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 202.17 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.61 บาท จากสิ้นปี 59
          
BBL ระบุว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว  ธนาคารจึงยังคงยึดหลักการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นและการขยายธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 เม.ย. 2560 เวลา : 20:21:08

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:43 am