- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 2 โดยน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาด ณ ระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน หลังรอยเตอร์เผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสหรัฐฯ แคนาดา และลิเบียได้ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กำลังการผลิตในลิเบียได้ปรับเพิ่มขึ้นสู่ 760,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากผลสำรวจของรอยเตอร์ที่เปิดเผยว่า อัตราความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกในเดือน เม.ย. ปรับลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการตัดสินใจลดกำลังการผลิตในเดือน พ.ย. 2559 โดยอยู่ที่ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ที่อยู่ที่ร้อยละ 92
+/- อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของทิศทางการซื้อขายปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังตลาดปิดทำการวานนี้ หลังสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4.2 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 528.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ปรับลง 215,000 บาร์เรล
+ ตลาดยังคงจับตามองการประชุมหารือของผู้ผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มโอเปก รัสซีย และประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ที่จะถึงในวันที่ 25 พ.ค. 2560 นี้ ว่าจะมีข้อตกลงเพื่อขยายระยะเวลาการลดกำลังผลิตน้ำมันดิบออกไปถึงสิ้นปีหรือ ไม่ ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าผลการประชุมจะออกมาในทิศทางที่เป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นอย่างต่อเนื่องมาแตะระดับร้อยละ 94.1 หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง และเร่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. ปรับลดลงราว 3.6 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 528.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
ติดตามความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลัง การผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะรัสเซียที่ยังมีทีท่าไม่ชัดเจน หลังนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ยังไม่มีความเห็นว่าควรจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ แต่จะหารือกับผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 24 พ.ค. นี้ ก่อนที่จะมีการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเพื่อที่จะตัดสิน ใจเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในวันที่ 25 พ.ค. 2560 นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังเผยอีกว่า รัสเซียอาจเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี หากไม่มีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต
ตลาดยังคงกังวลกับความ ต้องการใช้น้ำมันเบนซินในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ที่อาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 3.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงราว 1 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันยืนอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับในปี 2559 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน
ข่าวเด่น