|
|
|
|
|
|
สัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมาราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 50.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 52.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้ง OPEC และ Non-OPEC (นำโดยรัสเซีย) ตกลงในประชุมวันที่ 25 พ.ค. 60 ว่าจะร่วมกันขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบ ปริมาณรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับเดือน ต.ค. 59 ไปอีก 9 เดือน (สิ้นสุด มี.ค. 61) เพื่อลดปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลกจาก 3,000 ล้านบาร์เรล ลงมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 2,700 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ไนจีเรียและลิเบีย (สมาชิก OPEC) ยังได้รับการยกเว้นเช่นเดิมเนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศทำให้การผลิตต่ำกว่าระดับปกติ
Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 19 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 516.3 ล้านบาร์เรล
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy Trade and Industry) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.8 % อยู่ที่ 3.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน
25 พ.ค. 60 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของโคลัมเบีย Ecopetrol รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง La Cira-Infantas ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้ากว่า 80 % จากระดับ 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7,300 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากพนักงานประท้วงปิดหลุมผลิต ทั้งนี้ Ecopetrol ผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 1/60 เฉลี่ยอยู่ที่ 712,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 26 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2 แท่น มาอยู่ที่ 722 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 19
EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale oil ของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 60 จะเพิ่มขึ้น 122,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รัฐบาลสหรัฐฯมีแผนเพิ่มงบประมาณรายรับจากการขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ประมาณครึ่งหนึ่งจากปริมาณสำรองรวม 688 ล้านบาร์เรล ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2570 และจากค่าเช่าพื้นที่ Arctic National Wildlife Reserve ที่จะเปิดให้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียม
กระทรวงน้ำมันของอินเดียรายงานปริมาณนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นใน เดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 6.1 % และ ลดลงจากปีก่อน 0.7 % มาอยู่ที่ 4.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัฐมนตรีน้ำมันของอินเดีย นาย Dharmendra Pradhan กล่าวระหว่างร่วมงาน OPEC-India dialogue ต้นสัปดาห์นี้ว่าอินเดียจะกลายเป็น Refining Hub เพราะอินเดียมีแผนเพิ่มกำลังการกลั่นสู่ระดับ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2566
Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 37,182 สัญญา มาอยู่ที่ 221,495 สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบสัปดาห์ก่อนปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดที่ 52.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังช่วงซื้อขายระหว่างวันแตะระดับต่ำสุดที่ 50.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุที่ตลาดลดลงรุนแรงถึง 5% ในวันก่อนหน้าถึงแม้การประชุมกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC จะมีมติขยายระยะเวลามาตรการลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 9 เดือน (สิ้นสุดไตรมาสที่ 1/61) แต่ตลาดได้ตอบรับข่าวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าการประชุม อีกทั้งรัสเซียให้สัมภาษณ์ว่าอาจขยายมาตรการเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งทำให้ตลาดคาดหวังไว้มาก นักวิเคราะห์หลายสำนัก อาทิ Barclays, Goldman Sachs หรือ WoodMckenzie ยังคงความเห็นเดิมว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปลดลง และราคาน้ำมันดิบจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจนถึงปลายปี อย่างไรก็ตามทางด้านโรงกลั่นอิสระของจีน (Teapot Refinery) มีแนวโน้มชะลอการเข้าซื้อน้ำมันดิบในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. 60 เนื่องจากในช่วงต้นปีโรงกลั่นดังกล่าวมีการซื้อจำนวนมาก โดยต้องการใช้โควตาการนำเข้าน้ำมันดิบที่ได้รับให้ครบ นอกจากนี้ความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีนยังชะลอตัวโดยในเดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งค่าการกลั่นไม่ดึงดูดส่งผลให้โรงกลั่นอิสระลดอัตราการกลั่นลง โดยในเดือน เม.ย. 60 อัตราการกลั่นลดลงจากเดือนก่อน 7% มาอยู่ที่ 58% ซึ่งอาจกดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงระยะสั้นนี้ ทางด้านเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.00-55.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 48.00-53.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 49.00-54.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียตึงตัว นอกจากนี้ผู้ค้าในตะวันออกกลางนำเข้าน้ำมันเบนซินจากอินเดียเพิ่มขึ้น ทำให้อุปทานจากอินเดียสู่สิงคโปร์ลดลง ขณะที่ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.5 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 24 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 630,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.61 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันเห็นว่าอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ช่วงฤดูการขับขี่ปีนี้ อาจไม่แข็งแกร่ง หลัง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ล่าสุดของสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 787,000 บาร์เรล ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล สำหรับปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในญี่ปุ่นที่รายงานโดย Petroleum Association of Japan (PAJ) สัปดาห์สิ้นสุด 20 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.88 ล้านบาร์เรล โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.00-67.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นหลังอินเดียประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Bharat Stage IV ที่จำกัดปริมาณกำมะถันที่ 50 ppm ตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 ส่งผลให้โรงกลั่นในอินเดียนำเข้าน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นในช่วงที่การ upgrade กระบวนการกลั่นยังไม่แล้วเสร็จ อาทิ Hindustan Petroleum Corp. Ltd. ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 40 ppm ปริมาณ 500,000 บาร์เรล ส่งมอบ 15-17 มิ.ย. 60 อีกทั้งโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคยุโรปตะวันตกขาดแคลน Straight-Run Gasoil ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันในยุโรปหันมาใช้น้ำมันดิบ ชนิด Light มากกว่า เนื่องจากน้ำมันดิบ ชนิด Medium Heavy มีราคาสูงขึ้นมาก (เพราะนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ซึ่งโดยหลักเป็นเกรด Medium Heavy) จึงทำให้กระทบปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.23 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.38 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 20 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 310,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.22 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.00-65.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
|
บันทึกโดย : Adminวันที่ :
30 พ.ค. 2560 เวลา : 12:11:56
|
|
|
|
|
ข่าวเด่น