สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังรับน้ำได้อีกมาก สภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ระดับน้ำยังคงอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนลดลงในระยะนี้ ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้วานนี้(4 ก.ค. 60) 3 อันดับ ได้แก่ สถานีอ.เมือง จ.นครพนม วัดได้ 74.7 มิลลิเมตร , สถานี M.91 อ.ภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ วัดได้ 50.0 มิลลิเมตร และสถานี KGT.10 อ.เมือง จ.สระแก้ว วัดได้ 43.0 มิลลิเมตร สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก หรือมีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 – 50 ของความจุลำน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ จึงรองรับน้ำได้อีกมาก โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 662 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำยัง ต่ำกว่าตลิ่ง 6.60 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 399 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(4 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,874 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,135 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำตลอดฤดูฝนนี้ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,300 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก 9 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว และเขื่อน หนองปลาไหล กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรองรับฝนที่จะตกลงมาอีก สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,293 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,134 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,597 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร อนึ่ง จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าในวันที่ 7 ก.ค. 60 นี้ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนล่าง สำหรับปริมาณน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทาน จะรักษาระดับน้ำให้อยู่ในระดับ +16.50 เมตร(รทก.) เพื่อให้สามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
ข่าวเด่น