+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 หลัง Baker Hughes รายงานตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 14 ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2 แท่น ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังคงอ่อนตัว ขณะที่โอเปกพยายามที่จะลดปริมาณอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดลง โดยล่าสุดปริมาณแท่นขุดเจาะมีจำนวนทั้งหมด 765 แท่น
+ ประกอบกับประเทศจีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้มีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนหน้า ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 13.8 เนื่องจากมีความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 10 เดือน
+ กำลังการผลิตน้ำมันดิบใน North Dakota ปรับตัวลดลง 10,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ระดับ 1,040,000 บาร์เรลต่อวัน
- อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปกยังคงปรับเพิ่มขึ้น โดยปรับเพิ่มขึ้นจากประเทศไนจีเรียและลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปรับลดลกำลังผลิตลง และความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกในเดือน มิ.ย. ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อย 78
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคยังคงอ่อนตัว และมีอุปทานจากยุโรปมายังเอเซียเพิ่มมากขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคตึงตัว สาเหตุจากโรงกลั่นต่างๆ ในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุง จึงส่งผลให้มีการส่งออกน้ำมันดีเซลจากยุโรปเข้ามาในภูมิภาคเอเซียและตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 495.4 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่
ข่าวเด่น