- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ ลิเบีย และไนจีเรียยังคงผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ นักลงทุนยังคงรอดูสัญญาณที่ชัดเจนของข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะสามารถลดอุปทานส่วนเกินของโลกได้หรือไม่
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 112,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แตะระดับ 5.585 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน
- ลิเบียปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบให้อยู่เหนือระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิ.ย. 60 และ ณ ปัจจุบัน กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ระดับ 1.032 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ ความต้องการใช้น้ำมันจากจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังโรงกลั่นของจีนเพิ่มกำลังการกลั่นในเดือนมิ.ย. ราวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แตะระดับ 46.08 ล้านตัน หรือ 11.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ระดับ 11.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+/- นาย Haitham Al-Ghais เจ้าหน้าที่รัฐของคูเวต เผยว่าตลาดกำลังปรับเข้าสู่สมดุล จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และกล่าวว่าอาจเร็วไปที่จะกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบีย
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในเม็กซิโก ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมันเบนซินจากเอเชียไปสู่เม็กซิโก
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้ในอินเดียปรับลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับ โรงกลั่นภายในประเทศเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฯฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 495.4 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่
ข่าวเด่น