+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศซาอุดิอาระเบียในเดือน พ.ค. 2560 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 6.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่ส่งออกราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 2560 โดยซาอุดิอาระเบียยืนยันเป้าหมายที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมันดิบรายอื่นในการปรับลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกให้กลับสู่ภาวะสมดุล
+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศจีน จากการที่โรงกลั่นในจีนปรับเพิ่มกำลังการกลั่น โดยกำลังการกลั่นในเดือน มิ.ย. 2560 อยู่ที่ระดับ 11.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ระดับ 10.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มกว่า 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- อย่างไรก็ตาม นาย Carlos Perez รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของประเทศเอกวาดอร์ให้สัมภาษณ์ว่า เอกวาดอร์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบกับกลุ่มโอเปกได้ต่อและจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น แต่ไม่ถึงระดับเต็มกำลังการผลิต เนื่องจากต้องการเงินทุนมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินของประเทศ โดยเอกวาดอร์ทำข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 26,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งปัจจุบันปรับลดราว 60% ของข้อตกลง
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 112,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แตะระดับ 5.585 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงในช่วงฤดูมรสุม อย่างไรก็ดี ยังมีแรงหนุนจากความต้องการน้ำมันเบนซินจากประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการใช้ในอินเดียที่ปรับตัวลดลงในช่วงฤดูมรสุม รวมถึงโรงกลั่นภายในประเทศอินเดียกลับมาดำเนินการหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 495.4 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่
ข่าวเด่น