จังหวัดสุโขทัย เตรียมพร้อมรับมือน้ำในแม่น้ำยมไหลหลากจากจังหวัดแพร่ หลังกรมชลประทานแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำยมจะสูงขึ้น พร่องน้ำรองรับไว้แล้ว คาดพรุ่งนี้(21 ก.ค. 60)น้ำก้อนใหญ่จะมาถึงบริเวณเหนือปตร.แม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์)
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัยสาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขังได้มอบหมายให้กรมชลประทานลงพื้นที่สร้างความเข้าใจพร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุดโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำสูงขึ้นตามปกติของฤดูกาลและมีน้ำท่วมเป็นบางแห่งตามวิถีประจำที่เคยเกิดขึ้นมาแต่ครั้งอดีตซึ่งกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าในช่วงวันที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศปัจจุบัน(20ก.ค.60)มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 43,365ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 58ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม9,276 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 19,546ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 38 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 10,269ล้านลบ.ม.)สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 32,200ล้านลบ.ม.เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,856ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม3,095ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้5,160ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 2,065ล้านลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,000ล้านลบ.ม.
สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน(20ก.ค. 60)มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีC.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,262ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,291 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60)แนวโน้มลดลงเล็กน้อยประกอบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่จะไหลมาสมทบมีแนวโน้มลดลงเช่นกันทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,097ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีส่งผลให้ยังคงมีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคั้นกั้นน้ำบางพื้นที่ในเขตอ.เสนาอ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยาซึ่งกรมชลประทานได้ทำการควบคุมปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์จ.สมุทรปราการตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมบริเวณจ.แพร่ว่า ล่าสุด(20 ก.ค. 60) ระดับน้ำในแม่น้ำยมตอนบนบริเวณอ.สอง ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 8.04 เมตรและปริมาณน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลผ่านลงผ่านเขตเทศบาลเมืองแพร่ไปแล้ว ในช่วงเช้าของวานนี้(19 ก.ค. 60)ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมบริเวณจ.แพร่ มีแนวโน้มลดลง และไม่มีเหตุการณ์น้ำเอ่อลิ้นตลิ่งแต่อย่างใด
สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจากจ.แพร่ จะไหลลงสู่จ.สุโขทัยเป็นลำดับ คาดว่าปริมาณน้ำจะมาถึงบริเวณจ.สุโขทัยในวันพรุ่งนี้(21 ก.ค. 60)ซึ่งกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อแจ้งสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว ปัจจุบันทางจังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการเสริมกระสอบทราย(Bigbag) ในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยบริเวณที่ยังก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งไม่แล้วเสร็จเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่กำลังจะมาถึง ในส่วนของกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำหลากลุ่มน้ำยมก่อนไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัยโดยการพร่องน้ำบริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำจากตอนบน พร้อมกับได้พร่องน้ำในคลองยมน่านแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลักลงสู่แม่น้ำน่านให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อปริมาณน้ำดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์จะทำการชะลอน้ำโดยการผันน้ำเข้าคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย (ยม-น่าน) ผ่านประตูระบายน้ำหกบาทในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาทีลงสู่แม่น้ำน่าน และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ในอัตราไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาทีซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมืองสุโขทัย
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยมในเขตอ.บางระกำและอ.พรหมพิรามจ.พิษณุโลกนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือน้ำเหนือที่จะไหลหลากมาจากจังหวัดแพร่เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งเนื่องจากในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำยมนั้นยังคงมีพื้นที่นาข้าวที่กำลังรอการเก็บเกี่ยวร่วมแสนไร่ จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พบว่าบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่า( คลองบางแก้ว ) ระดับน้ำในแม่น้ำยมสายหลักได้เพิ่มสูงขึ้นมากแต่ยังไม่ถึงจุดวิกฤติล้นตลิ่งในขณะที่น้ำในคลองบางแก้วหรือแม่น้ำยมสายเก่าก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติยังไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่จะไหลหลากลงมากอีก กรมชลประทาน ได้มีการพร่องน้ำในคลองสายหลักได้แก่แม่น้ำยมสายเก่า, คลองเมม-คลองบางแก้ว, คลองน้ำไหลพร้อมกับเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมผ่านทางคลองDR-2.8 และDR-15.8. ลงสู่แม่น้ำน่านต่อไป
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทุกแห่งแล้วรวมทั้งเตรียมพร้อมรถแบคโฮรถขุดรถเทรลเลอร์เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และเครื่องผลักดันน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้ทันทีทั้งนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาสำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำสามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทานโทร.สายด่วน 1460
ข่าวเด่น