ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส มอง SET วันนี้ กลับมาแกว่งสร้างฐานต่อไป ในกรอบ 1570 - 1585 จุด


กลยุทธ์การลงทุน
  

ธนาคารกลาง ยุโรปมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามสหรัฐ หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว  ถือว่าดีต่อการส่งออกของไทยและเพื่อนบ้าน แม้อาจจะมีแรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่า แต่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ GDP Growth ของไทยดีขึ้นกว่าเดิม  แต่ระยะสั้นยังมีแรงขายรับงบ 2Q60 (เช่นแรงขายหนัก ธนาคารพาณิชย์/สื่อสาร วานนี้) ทำให้ SET ยังแกว่งตัว 1570-1585 จุด Top picks เลือก BEAUTY(FV@B13.5) และ BANPU(FV@B24) ซึ่งราคาหุ้นขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับราคาถ่านหินที่ขยับขึ้น   

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย...สลับหุ้นกลางเล็ก ขายหุ้นใหญ่ ธนาคาร/สื่อสาร
   

วานนี้ SET Index แกว่งในกรอบแคบๆ โดยยืนในแดนบวกได้เกือบทั้งวัน ก่อนที่จะโดนกดลงสู่แดนลบในช่วงท้ายตลาด ส่งผลให้ดัชนีปิดลบเล็กน้อย -0.57 จุด มูลค่าการซื้อขาย 4.1 หมื่นล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่นำตลาดฯ ไม่ใช่กลุ่ม Market Cap ขนาดใหญ่ แต่เป็นกลุ่มขนาดกลาง เริ่มจากกลุ่มโรงแรม นำโดย DTC พุ่งแรงถึง 6.96% แม้ DTC  ยังต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance จนถึงวันที่ 26 ก.ค. นี้ ตามด้วย CENTEL เพิ่มขึ้น 2.5% ส่งผลให้นับตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ราคาปรับขึ้นไปแล้วถึง 18.8% (อาจเป็นเพราะกำไรงวด 2Q60 ดีกว่า 1Q60 แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบ 2Q59) และราคาหุ้นที่เหนือ 41 บาท น่าจะถูกขายทำกำไรอีกครั้งได้ เช่นเดียวกับหุ้นขนส่ง AOT ขึ้นแรง 3.06% หลังทะลุแนวต้าน 50 บาท และทำ New High  ตามด้วย BA ฟื้นตัว 1.04%
  

ส่วนหุ้น IPO น้องใหม่  BGRIM  ยังคงปรับขึ้นต่อ หลังเข้าซื้อขายใน SET เป็นวันที่ 2 ตามด้วย TPIPP ปรับขึ้น 5.71%  โดยคาดกำไรสุทธิงวด 2Q60 จะเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากงวด 1Q60 หนุนจากปริมาณขายและความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น คาดกำไรสุทธิปี 2560-61 จะเติบโตถึง 92% ต่อปี
  

ตรงข้ามกลุ่มที่ลดลง คือ กลุ่มชิ้นส่วนฯ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากราคาหุ้นมี upside  จำกัด และยังถูกกดดันจากเงินบาทแข็งค่า โดย HANA ลด 3.14% KCE ลดลง 2.22% SVI ลดลง 0.84% และธนาคารพาณิชย์ น่าจะเป็นแรงขายรับงบฯ 2Q60 นำโดย KTB ลด 2.16% KBANK 1.51% KKP 1.35% BBL 1.08% TISCO 1.01% เป็นต้น
  

โดยภาพรวม ดัชนียิ่งเข้าใกล้แนวต้าน 1580 จุด ก็จะเจอแรงขายออกมาทันที ทำให้คาดว่าการเคลื่อนไหวของ SET Index วันนี้คงกลับมาเหมือนเดิมคือแกว่งสร้างฐานต่อไป กรอบการเคลื่อนไหวยังไม่น่าแตกต่างไปจากเดิมในกรอบ 1570 – 1585 จุด
ECB พร้อมใช้นโยบายการเงินตึงตัว ขณะที่ BOJ รอเป็นปี 2561 
   

ผลการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก 2 แห่ง คือธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) และยุโรป(ECB) วานนี้เป็นไปตามที่คาด แต่ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกัน   กล่าวคือ
  

BOJ  ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ตั้งแต่ ม.ค. 2559 เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อต่ำ ล่าสุดทรงตัว  0.4%yoy ติดต่อกัน 2 เดือน  (และคงวงเงิน QQE ที่ปีละ 80 ล้านล้านเยนตั้งแต่ พ.ย. 2557 ควบคู่กับการรักษาเส้น Yield Curve  แต่อย่างไรก็ตาม  BOJ มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนจากปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP growth ในปี 2560 เป็น 1.8%yoy จาก 1.6% และปี 2561 เป็น 1.4%yoy จากเดิม 1.3%  แม้มีการปรับลดคาดการณเงินเฟ้อลงเหลือ 1.1%จาก 1.4%ในปี2560 และ 1.5% จาก 1.7% ในปี 2561  บ่งชี้ว่าการใช้นโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังต้องใช้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สอดคล้องกับผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ในญี่ปุ่นเชื่อว่า BOJ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงเดือน เม.ย. 61 ซึ่งเป็นเวลาที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ครบกำหนดวาระบริหารประเทศ และ ECB ยังยืนดอกเบี้ยฯ ที่  0% และคง QE ที่เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ระยะเวลา เม.ย. ถึงสิ้นปีนี้)

อย่างไรก็ตาม ตลาดให้น้ำหนักไปที่การประชุมรอบถัดไป ก.ย. ซึ่งคาดว่า ECB จะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว เริ่มจากการถอนเงินออกจากระบบ (Tapering)  ผ่านการลดวงเงิน QE และในปี 2561 มีโอกาสที่ขึ้นดอกเบี้ย ตามสหรัฐ  หลังจากช่องว่างระหว่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ยราว 1.3% (เงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน มิ.ย. ทรงตัวที่ 1.3% และดอกเบี้ย 0%)  แต่คาดว่าจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป  เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศสมาชิกยังกระจุกตัวในประเทศชั้นแนวหน้า  อาทิ  เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยภาพรวมทำให้ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์อยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องและทำ จุดสูงสุดในรอบ 1 ปี   หรือแข็งค่าราว  9.4% นับตั้งแต่ 6 มี.ค.2560  สถานการร์นี้หนุนให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นยุโรปต่อเนื่อง ส่งออกดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ชดเชยเงินบาทแข็งได้มาก
   

กระทรวงพาณิชย์เผยยอดการค้าระหว่างไทยเดือน มิ.ย.60 ยังขยายตัวต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดส่งออก(X)ในรูปดอลลาร์ขยายตัว 11.7%yoy (2.02 หมื่นล้านเหรียญ vs สกุลบาท 69.34 หมื่นล้านบาท 5.7%ผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า) และส่งออกยังเพิ่มติดต่อกัน 4 เดือน สินค้าส่งออกดีขึ้นได้แก่ เครื่องโทรสาร ,โทรศัพท์ และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 74.08%yoy, เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ 64.7%, ผลไม้สด 59%, ผลิตภัณฑ์พลาสติก 49.2%,แผงวงจรไฟฟ้า 45.3% ตรงข้ามส่งออกมูลค่าลดลงคือ อัญมณีและเครื่องประดับ ลดลง 24.69%, ผลไม้แปรรูปลดลง 7.47%, เครื่องนุ่งห่ม ลดลง 5.92%, รถยนต์และส่วนประกอบ ลดลง 2.54%
  

ตลาดส่ง ออกที่ขยายตัวเกือบทุกตลาด คือ เอเชีย  นำโดย อินโดนีเซียขยายตัว 48.91%yoy เพิ่ม 3 เดือนติดต่อ, จีน 29.94% เพิ่มติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี, เกาหลีใต้ 29.72%,  เวียดนาม 27.23%, ไต้หวัน 23.72% และเป็นที่สังเกตว่าเริ่มเห็นตลาดตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวดีขึ้น  อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และ ปากีสถาน ที่ขยายตัว 2 และ 4 เดือนติดต่อกัน ตามลำดับ  ตรงข้ามตลาดส่งออกที่หดตัวคือ สวิตเซอร์แลนด์ที่หดตัว 48.54% ลดลง 2 เดือนติดต่อกัน, เบลเยี่ยมหดตัว 16.73%ลดลง 2เดือนติดต่อกัน, ซาอุดิอาระเบียหดตัว 15.62%, ออสเตรเลียที่หดตัว 10% เป็นต้น
  

ขณะที่ การนำเข้า(M) ขยายตัว 13.7%yoy ที่ 1.83 หมื่นล้านเหรียญ (ในรูปเงินบาทเพิ่ม 12.8% เพราะสินค้านำเข้าราคาถูกลง) หลักๆอยู่ในหมวด เพชร, อัญมณีเติบโต 147.2%yoy ขยายตัว 7 เดือนติดต่อกัน, ก๊าซธรรมชาติ 48.1% เพิ่ม 5 เดือนติดต่อกัน  และสินค้าประภทวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการส่งออก อาทิ สินแร่โลหะ 23.5%yoy, น้ำมันดิบ 24.9%yoy  เคมีภัณฑ์ 22% yoy, แผงวงจรไฟฟ้า 21%yoy, ส่วนประกอบยานยนต์ 10.7% yoy  
  

เป็นที่สังเกต ว่าในเดือน มิ.ย. มีการนำเข้าเครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือน ที่ 3  คือ  15.75%yoy จาก 2.3% ในเดือน เม.ย. หลังจากก่อนหน้านำเข้าเครื่องจักรติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สะท้อนได้ว่าเอกชนเริ่มมีการลงทุน อย่างไรก็ตามเนื่องจากมูลค่าการนำเข้ายังน้อยกว่าส่งออก ทำให้เดือน มิ.ย.60 ไทยยังเกินดุลการค้าราว 1.97 พันล้านเหรียญ ติดต่อกัน 26 เดือน  เป็นเหตุผลหนึ่งที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่า  
  

โดยภาพรวมทำให้ส่งออก  และ นำเข้า 1H60 เพิ่มเฉลี่ย 7.8%yoy  และ 15%yoy ซึ่งทำให้  ASPS  อาจต้องทบทวน GDP Growth ปี 2560 ที่ 3.5%yoy (ใกล้เคียงกับ Consensus คาด)

ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเกือบทุกประเทศ รวมถึงไทย

  

วานนี้ต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าราว 10 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 106 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่ง ต่างชาติขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 56 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 12), ไต้หวัน 20 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน), ฟิลิปปินส์ 2 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทย 37 ล้านเหรียญ หรือ 1.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิอีก 676 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 7.2 พันล้านบาท)
  

ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.24 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท

 

Earnings Preview: ANAN, SYNTEC, DELTA, TMT
  

วานนี้นักวิเคราะห์ ASPS  ยังมี Earning Preview  ต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายบริษัทที่มีแนวโน้มที่ดี ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับเพิ่มประมาณการ จากก่อนหน้านี้มี BEAUTY วานนี้มีปรับเพิ่ม SYNTEC  แม้ยังมีความกังวลต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงสั้น ๆ  คือ SYNTEC (FV@B6) คาด Q60 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4%YoY จากการรับรู้รายได้จาก Backlog ที่มีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ gross margin ไตรมาสนี้ ยังทำได้สูง ขณะที่ยังมีโอกาสรับงานใหม่เพิ่มเติม  หนุน Backlog มีโอกาสทำ New High ได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังไม่รวมมรายการพิเศษ  โดยได้ปรับประมาณการกำไรปี 2560 ขึ้นอีก 27% สะท้อนอัตรากำไรที่ดีกว่าคาด สะท้อนอัตรากำไรที่ดีกว่าคาด  
   

ANAN (FV@B6) คาดกำไรปกติ 2Q60 เติบโตสูง 144% qoq แต่ลดลง 20% yoy สาเหตุจากส่วนแบ่งขาดทุนเพิ่มจากการเปิดโครงการ JV ที่มากใน 2Q60 และมาร์จิ้นลดลง ทั้งนี้ ประเมิน Presale สะสม 1H60 รวม 1.44 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของเป้าทั้งปีที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 2.87 หมื่นล้านบาท โดย 2H60 ยอด Presale น่าจะรักษาฐานได้ใกล้เคียงกับ 1H60 ขณะที่ยอดโอนฯ 2H60 จะเติบโตอย่างมีนัยฯ เนื่องจากมีกำหนดการส่งมอบโครงการคอนโดฯ ใหม่ที่สร้างเสร็จพร้อมโอนฯ มากถึง 9 โครงการ จึงคาดกำไรปีนี้โดดเด่น 22%
   

DELTA (FV@B78) คาดกำไรสุทธิงวด 2Q60 ลดลงถึง 43.0% qoq และ 42.1% yoy มีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษ แต่ถ้าพิจารณากำไรจากการดำเนินงานงวด 2Q60 คาด เพิ่มขึ้น 15.9% qoq และ 18.2% yoy ปัจจัยหนุนจากช่วงฤดูกาลส่งออกชิ้นส่วนฯ ขณะที่ 3Q60 คาดอ่อนตัวลง 4.8% qoq (แต่เพิ่มขึ้น 6.3% yoy) จากแนวโน้มรายได้รวมอ่อนตัวลงเนื่องจากการปรับโครงสร้างบริษัทโดยการขาย บริษัทย่อยออกไปบางส่วน โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2560 จะอ่อนตัวลง 1.4% yoy แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานปี 2560 จะเติบโต 15.2% yoy อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นปัจจุบันเกิน Fair Value ไปมากแล้ว จึงคงคำแนะนำ ขาย โดยแนะนำ HANA (FV@B57) เป็นตัวเลือกลงทุนที่ดีกว่า จากทิศทางกำไรปกติปี 2560 ที่เติบโตโดดเด่นถึง 33.0% yoy
  

TMT (FV@15) คาดกำไรสุทธิ 2Q60 ลดลง 85% QoQ และ  87% YoY จากราคาขายเหล็กเฉลี่ยของ TMT ปรับลดลง 6% QoQ บวกกับมีสต็อกวัตถุดิบต้นทุนสูงอยู่ สร้างแรงกดดันต่อ Metal Spread และจะทำให้ Gross Margin ลดลงเหลือ 4.9%  แต่ 3Q60 คาดกำไรสุทธิกลับสู่ภาวะปกติจากราคาเหล็ก ในประเทศที่ฟื้นตัว  ทำให้ Metal Spread ของ TMT กลับมากว้างขึ้น ผลักดันให้ Gross Margin งวด 3Q60 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการปี 2560 ลง 9.6% จากผลประกอบการ 2Q60 ที่หดตัวแรงเกินคาด โดยรวมคาดปีนี้กำไรสุทธิลดลง 40% แม้ คาดหวังอัตราตอบแทนเงินปันผลปีนี้ได้สูงถึง 6.7%  แต่แนะนำ Switch  ไป MCS  ซึ่งคาดกำไร 2H60 โดดเด่นกว่ามาก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ค. 2560 เวลา : 12:19:01

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:35 am