ฝนตกทางตอนบนเริ่มเบาบางลง ส่งผลระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน ลดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกชุกในระยะต่อไป
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำสูงขึ้นตามปกติของฤดูกาล และมีน้ำท่วมเป็นบางแห่งตามวิถีประจำที่เคยเกิดขึ้นมาแต่ครั้งอดีต ซึ่งกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะ เยี่ยมเยียนและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนาม เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำยมบริเวณจ.สุโขทัย ซึ่งรับน้ำหลากต่อจากจ.แพร่ ยังคงมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งต่ำในพื้นที่ริมแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำบางแห่งบริเวณ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำสายอื่นๆ มีระดับต่ำกว่าตลิ่งสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศและขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(21 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,738 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,645 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 31,400 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,966 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,181 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 5,270 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 12,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าสภาพน้ำท่าทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 1,258 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังลดลงด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,038 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน ได้พร่องน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้ลดต่ำลงเหลือ +15.30 เมตร(รทก.) พร้อมกับรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งเท่าที่จำเป็น เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกชุกในระยะต่อไปให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมบริเวณจ.สุโขทัย หลังจากปริมาณน้ำจากจ.แพร่ ได้ไหลลงมาถึงบริเวณเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลกแล้วในช่วงสายของวันนี้(21 ก.ค. 60) กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำก้อนนี้ โดยการผันน้ำเข้าสู่คลองยมน่าน ในอัตรา 131 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ในอัตราประมาณ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามเกณฑ์ที่ได้วางไว้ ซึ่งยังไม่มีผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นประจำไว้แล้ว เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม สำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ สามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน โทร.สายด่วน 1460
ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายสารสนเทศคุณภาพน้ำ
ข่าวเด่น