กรมชลประทานส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนลงพื้นที่ตรวจสอบสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร หลังถูกน้ำกัดเซาะจากฝนตกหนักพร้อมจัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน เข้าดำเนินการซ่อมแซมบริเวณที่ถูกกัดเซาะอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน
นายทองเปลวกองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หากเกิดปัญหาให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการสนองนโยบายสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนครอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเร่งดำเนินการเข้าไปซ่อมแซมสันเขื่อนที่ถูกกัดเซาะแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 60 และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ส่วนสันเขื่อนและทำนบดินส่วนที่เหลือยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จะไม่ไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสกลนคร แต่จะไหลลงสู่คลองน้ำอูนและหนองหาร ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหาร ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองสกลนครโดยตรง แต่จะทำให้ระดับน้ำในหนองหารเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำจากในเขตเทศบาลเมืองสกลนครระบายได้ยากขึ้น ซึ่งกรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวมจำนวน 26 เครื่อง หนองหารลงสู่ลำน้ำก่ำ โดยขณะนี้ติดตั้งแล้วจำนวน 4 เครื่องที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จังหวัดนครพนม และจะทยอยติดตั้งอีก 22 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีน้ำกัดเซาะสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จังหวัดสกลนคร ว่า ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีน้ำเพียงร้อยละ 60 หรือประมาณ 1.40 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่างเก็บน้ำ 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่เนื่องจากมีฝนตกชุกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่กรมชลประทานยังคงดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ผ่านทางคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาซึ่งมีศักยภาพสามารถระบายได้สูงสุดเพียงวันละ 80,000 ลูกบาศก์เมตร
แต่เนื่องจากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่คลองส่งน้ำเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้เหลือศักยภาพในการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ได้เพียงวันละประมาณ 24,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวยังมีฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส” จึงทำให้อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเต็มอ่างฯและต่อมายังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เซินกา”ทำให้เกิดฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมอีก ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 60 เป็นต้นมา วัดปริมาณฝนสะสมได้มากถึง 245 มิลลิเมตร ในช่วงระยะเวลาเพียง 20 ชั่วโมง จึงทำให้มีน้ำไหลหลากจากตอนบนลงสู่อ่างเก็บน้ำมากถึง 3.75 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเกิดน้ำเอ่อล้นข้ามทำนบดิน และเกิดการกัดเซาะบริเวณสันเขื่อนขึ้นซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานได้ตรวจสอบในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าเกิดการกัดเซาะบริเวณสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร กว้าง 20 เมตร จากความยาวสันเขื่อนทั้งหมด 1,300 เมตร ต่อมา เมื่อระดับน้ำท่วมได้ลดลง สามารถสัญจรได้แล้วเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่และได้ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียด พบว่าสันเขื่อนและทำนบดินที่เหลือยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถรองรับน้ำได้ตามศักยภาพปัจจุบัน
ข่าวเด่น