- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเล็กน้อย จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขี้นมาสู่ระดับปกติ ภายหลังเกิดเหตุประท้วงส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันประมาณ 270,000 บาร์เรลต่อวันและคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวหลังเกิดเหตุประท้วงของกลุ่มแรงงาน อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตน้ำมันดังกล่าวสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หลังกลุ่มผู้ประท้วงและบริษัทน้ำมันสามารถเจรจาตกลงกันได้
- ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากปริมาณการผลิตในเดือน ก.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปีนี้ ขณะที่การส่งออกของกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ประมาณ 26.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของไนจีเรียและลิเบีย รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2558 และคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 12% จากปริมาณต่ำสุดในเดือน มิ.ย. ปีที่ผ่านมา
+ ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดแท่นขุดเจาะลง 1 แท่น ในสัปดาห์สิ้นสุดวัน 4 ส.ค. มาสู่ระดับ 765 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสามสัปดาห์
+/- ตลาดยังคงรอผลการประชุมระหว่างผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในวันนี้ ว่าจะมีมาตรการหรือความคืบหน้าในการเพิ่มประสิทธิภาพของข้อตกลงการลดกำลังการผลิตหรือไม่
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ตึงตัว ประกอบกับ แรงซื้อจากอินโดนีเซียและอินเดียยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในประเทศมีการปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นและอุปสงค์ที่เริ่มเบาบางลงในช่วงฤดูผล นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเซียและตะวันออกกลางไปยังฝั่งตะวันตกปรับลดลงเนื่องจากค่าขนส่งที่สูงขึ้นทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะส่งออก
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 481.88 ล้านบาร์เรล
ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 7-8 ส.ค. นี้ ณ เมือง อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหารือถึงสาเหตุของการที่บางประเทศผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลง ซึ่งก่อนการประชุมในสัปดาห์นี้ ประเทศยักษ์ใหญ่ของกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบียได้ออกมาให้ความเห็นว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศที่ไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง ในเวลาต่อมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังผลิตเกินข้อตกลงได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น
จับตาการพิจารณาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันเวเนซุเอล่าของสหรัฐฯ หลังมีการจัดการเลือกตั้งสภาร่างธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อยุบสภานิติบัญญัติที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาธิปไตยภายในประเทศอ่อนแอลง ทั้งนี้ การคว่ำบาตรครั้งนี้อาจทำให้เวเนซุเอลาไม่สามารถส่งผลน้ำมันดิบไปสู่สหรัฐฯ ได้ ในขณะเดียวกัน เวเนซุเอลาก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการซื้อน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
ข่าวเด่น