- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตลาดกังวลเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่(OPEC) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของไนจีเรียและลิเบีย เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับข้อยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก
- การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียจากแหล่ง El Sharara ซึ่งมีกำลังการผลิต 270,000 บาร์เรลต่อวัน กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังเผชิญเหตุการณ์ประท้วงที่ทำให้การผลิตหยุดชะงักไป
+/- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. 60 ปรับลดลง 7.8 ล้านบาร์เรล ไปสู่ระดับ 478.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์มองว่าจะลดลงเพียง 2.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 319,000 บาร์เรล ทางด้านปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล
+ อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. ร้อยละ 10 หลังบริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย จะลดการส่งออกน้ำมันแก่ลูกค้าทั่วโลกในเดือน ก.ย. อย่างน้อย 520,000 บาร์เรลต่อวัน โดยการปรับลดการส่งออกเป็นไปตามสัญญาของซาอุดิอาระเบียในการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปก
+ ผลการประชุมระหว่างผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่เมือง อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นไปในทิศทางบวกต่อตลาด หลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คาซัคสถาน และมาเลเซีย ได้สนับสนุนการตรวจสอบการปรับลดกำลังการผลิต และจะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเต็มที่
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงตึงตัว หลังโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับอุปสงค์ที่ดีในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้อุปทานในภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโอกาสในการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียและตะวันออกกลางไปยังฝั่งตะวันตกปรับลดลงเนื่องจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 481.88 ล้านบาร์เรล
ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 7-8 ส.ค. นี้ ณ เมือง อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหารือถึงสาเหตุของการที่บางประเทศผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลง ซึ่งก่อนการประชุมในสัปดาห์นี้ ประเทศยักษ์ใหญ่ของกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบียได้ออกมาให้ความเห็นว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศที่ไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง ในเวลาต่อมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังผลิตเกินข้อตกลงได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น
จับตาการพิจารณาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันเวเนซุเอล่าของสหรัฐฯ หลังมีการจัดการเลือกตั้งสภาร่างธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อยุบสภานิติบัญญัติที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาธิปไตยภายในประเทศอ่อนแอลง ทั้งนี้ การคว่ำบาตรครั้งนี้อาจทำให้เวเนซุเอลาไม่สามารถส่งผลน้ำมันดิบไปสู่สหรัฐฯ ได้ ในขณะเดียวกัน เวเนซุเอลาก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการซื้อน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
ข่าวเด่น