ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯ ดีเดย์ 25 ก.ย.เริ่มผันน้ำเข้าทุกทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา


 

 

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 29/2560 พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงาน กปร. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อม VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง 17 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

 

 

 

รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงตั้งแต่วันที่ 13-18 กันยายน 2560 จะยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เนื่องจากยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านในแถบนี้ แต่หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางจะเริ่มลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากร่องความกดอากาศที่เคลื่อนตัวลงต่ำและเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ต่อไป ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำตามนโยบายของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้มีปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 12 ทุ่งให้เร็วขึ้นกว่าปกตินั้น 

 

 

จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพบว่าในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และหลังจากนั้นจะปรับพื้นที่นาข้าวลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก โดยที่ประชุมในวันนี้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 จะเป็นวันที่เริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่าง ๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา และสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร 

 

 

สำหรับปัจจัยในการกำหนดช่วงเวลาในการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งนั้น กรมชลประทานพิจารณาจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ และปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะสามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

 

โดยแนวทางการกระจายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งซ้าย) จะเริ่มรับน้ำที่คลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำเต็มศักยภาพของคลองประมาณ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและตัดเข้าทุ่งเชียงรากและทุ่งท่าวุ้ง จำนวน 15 วัน หลังจากนั้น 15 วันถัดไปจะกระจายน้ำไปในพื้นที่ทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่วนที่คลองชัยนาท-อยุธยา  13 วันแรกจะรับน้ำที่ทุ่งบางกุ้งและทุ่งบางกุ่ม(บางส่วน) และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 14-30 จะรับน้ำเข้าทุ่งบางกุ่มจนเต็มพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งขวา) จะเริ่มที่แม่น้ำน้อยในพื้นที่ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ระยะเวลารับน้ำ 30 วัน สามารถรับปริมาณน้ำได้ 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านแม่น้ำท่าจีน สามารถตัดน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา มีระยะเวลารับน้ำ 30 วัน รองรับปริมาณน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนั้นยังจะรับน้ำคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างและไหลลงสู่ทะเลเป็นระยะเวลา 30 วันด้วย

 

 

รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวย้ำว่า การผันน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการคมนาคมสัญจรไป-มาของประชาชนในพื้นที่ และหลังจาก 30 วันที่มีการผันน้ำเข้าทุ่งแล้วจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับใช้การในช่วงแล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.ย. 2560 เวลา : 20:40:36

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:04 am