ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังทรงตัวอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จากการคาดการณ์อุปสงค์ที่แข็งแกร่ง
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังทรงตัวอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน หลังการคาดการณ์ความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้นและโรงกลั่นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ
+ โอเปกคาดการณ์ความต้องการใช้ปี 2561 จะขยายตัว 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปรับการคาดการณ์การขยายตัวของอุปทานน้ำมันของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกลง 100,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด
+ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันกำลังเข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของโอเปก เนื่องจากความต้องการใช้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่อุปทานจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังปรับตัวลดลง
+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับลดลง 7 แท่น มาอยู่ที่ 749 แท่น ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 60
+ อัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ จำนวน 13 จาก 20 โรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบจากเฮอร์ริเคน Harvey เริ่มใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โรงกลั่นอีก 5 โรงกำลังทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันบางส่วนในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากอินโดนิเซียและเวียดนาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าความต้องการใช้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หลังหมดช่วงของฤดูฝน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ในตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังโรงกลั่นโดยส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินการกลั่นได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 468.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงพายุ Harvey
ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกคาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นและผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD commercial stocks) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,016 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีเพียง 190 ล้านบาร์เรล โดนผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจาก 75% มาอยู่ที่ระดับ 82% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกความร่วมมือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119% ในเดือนดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา
จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 ก.ย. ว่าจะมีการออกมาตรการสำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดรัฐมนตรีของคูเวตกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตอยู่ระหว่างการชักชวนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต
ข่าวเด่น