ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน (21/09/60)


 กลยุทธ์การลงทุน

  Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้ ผิดคาด หนุน Dollar ฟื้นตัว กดดันสกุลคู่ค้าอ่อนค่า ทั้งยูโร เยน และบาท แต่ดีต่อหุ้นส่งออก (VNG, HANA, GFPT, AH) และความคืบหน้า พ.ร.บ. EEC  หนุนการลงทุนเอกชนและนิคมฯ (WHA, AMATA) และเศรษฐกิจโดยรวม จึงเชื่อ SET เดินหน้าต่อแตะ 1700 จุด แม้เผชิญแนวต้าน 1,675 จุด ยังชอบหุ้น Laggards THCOM(FV@B24), INTUCH(FV@B72.4), Top picks SCC(FV@B620) และ WHA(FV@B3.6)  

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย.....  SET Index ชะลอความร้อนแรง จากหุ้น Big cap เริ่มพักฐาน 
  วานนี้ SET Index ชะลอตัวตามตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยระหว่างวันแกว่งในแดนลบจนกระทั่งปิดตลาดที่ 1670.65 จุด ลดลง 1.94 จุด หรือ 0.12% มูลค่าการซื้อขาย 6.42 หมื่นล้านบาท ในช่วงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวขึ้นร้อนแรงต่อเนื่องกว่า 5.35% (84 จุด) ด้วยแรงหนุนของหุ้น Big Cap. ในหลายๆ อุตสาหกรรมที่เป็นตัวนำตลาด ทำให้วานนี้เริ่มเห็นการพักฐาน ประกอบกับนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างรอฟังผลการประชุม Fed (คืนวันที่ 20 ก.ย.) ว่าจะออกมาอย่างไร
  หุ้นที่กดดันตลาดฯ มาจากหุ้น Big Cap เกือบทุกกลุ่ม  นำโดยกลุ่มขนส่งฯ  คือ AOT ลดลง 2.87%  สายการบิน NOK, AAV ลดลง 1.82% และ 0.78%  กลุ่มน้ำมัน คือ PTT ลดลง 0.95% และ PTTEP ลดลง 0.55%  และ กลุ่มปิโตรฯ ทั้ง IRPC และ TOP ลดลง 2.36% และ 1.36 ตามลำดับ
  กลุ่ม ICT  ผู้ให้บริการมือถือทั้ง DTAC ลดลง 2.20% และ ADVANC ลดลง 1.30% ส่วน INTUCH ลดลง 0.85% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง KBANK และ BBL ลดลง 1.39% และ 1.06%  ตามลำดับ
  ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นไม่มีกลุ่มใดโดดเด่นมากนัก ยกเว้นกลุ่มอสังหาฯ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ นำโดย CPN เพิ่มขึ้น 0.99%, ANAN  4.63% LH  3.06%, SIRI  1.80%, QH  0.76% และ   SENA  0.53%, สำหรับราคาหุ้น QH ยังถือว่า Laggard กว่ากลุ่มฯอยู่มาก โดยตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ให้ผลตอบแทนเพียง 3% ในขณะที่พื้นฐานยังแข็งแกร่งไม่แพ้บริษัทใดในกลุ่มฯ ทั้ง PER ต่ำเพียง 7.9 เท่า และ Div. Yield ที่สูงถึง 6% ต่อปี ประกอบกับสามารถคาดหวัง Upside ได้สูงสุดในกลุ่มฯ กว่า 47.4% พร้อมผลประกอบการในช่วง 2H60 มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากการส่งมอบคอนโดฯ ใหม่ 2 โครงการ มูลค่ากว่า 5.1 พันล้านบาท และกำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนเงินลงทุนใน LHBANK 
  แนวโน้มตลาดวันนี้ คาดว่าจะแกว่ง sideway up จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มน้ำมันตามราคาน้ำมันโลกที่ขยับขึ้น โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ที่ 1664 - 1680 จุด

FED ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้ หนุน Dollar แข็งค่ากดดันสกุลอื่น
  ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ระหว่าง 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้ยังคงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ที่ 1.25% แต่ส่งสัญญาณจะปรับลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ในเดือน ต.ค. 2560 หรือการขายพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้รัฐ และหลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์บ้านเป็นประกัน (Mortgage back securities) ซึ่งตั้งเป้าหมายจะปรับลดลงราว 50% จากยอดสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4.25 ล้านล้านเหรียญฯ เพื่อดึงสภาพคล่องออกจากระบบ หลังจากที่ได้ซื้อหลักทรัพย์เหล่านั้น เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่สหรัฐฯ  ซึ่งตลาดรับรู้ประเด็นนี้ไปแล้ว   
  เป็นที่สังเกตว่า Fed กลับปรับเพิ่ม GDP Growth สหรัฐ ปี 2560  เป็น 2.4%yoy จากเดิมคาด 2.2% แต่ยังคง GDP ปี2561 ที่ 2.1%  และปรับลดอัตราเงินเฟ้อปี 60 ลงเหลือ 1.5%yoy จากเดิม  1.7% และปี 61 ลดเหลือ 1.9%yoy จากเดิม 2% จากผลกระทบของราคาน้ำมันที่อ่อนตัวในช่วง 2Q60 แต่อย่างไรก็ตามโดยรวม Fed ยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐดี แม้ในช่วงสั้นจะมีผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจใน 2H60
  ด้วยเหตุนี้ มติที่ประชุม คณะกรรมการ  12 จาก 16 ราย สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และปีหน้าคาดขึ้น 3 ครั้งราว 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปี 2560 จะอยู่ที่ 1.5% และในปี  2561  เป็น 2.25% สอดคล้องกับผลสำรวจ Bloomberg พบว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยฯ ในรอบ ธ.ค.60 เพิ่มเป็น 63.8% จากก่อนหน้าที่ 43.4%  หนุนดอลลาร์กลับแข็งค่าราว 0.9% ในวันเดียว หลังจากอ่อนค่าราว  10%นับตั้งแต่ต้นปี  ส่งผลทำให้ค่าเงินสกุลคู่ค้าเริ่มกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะในเอเซีย   น่าจะผ่อนคลายภาคส่งออกในช่วงสั้น โดยหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินอ่อนค่า HANA(FV@B53), GFPT(FV@B23), VNG (FV@B14)

ราคาน้ำมันฟื้นตัว หลัง OPEC มีโอกาสขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิต
  ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบทั้ง 3 ตลาดฯ คือ WTI, Brent และ Dubai ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กว่า 18.4%, 25.3% และ 25.6% มาอยู่ที่ 50.29 เหรียญฯต่อบาร์เรล, 56.16 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ 54.75 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ และทั้ง 3 ตลาดฯยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในวานนี้ แม้ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ราว 4.6 ล้านบาร์เรล  มากกว่าที่ตลาดฯคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากโรงกลั่นที่หยุดชะงักไป
  ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยหนุนจากการประชุมย่อย ของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก ในวันที่ 22 ก.ย. 60 นี้  ซึ่งจะมีการหารือ ในการขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม เพื่อลดภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากวันที่ 25 พ.ค. 60 โอเปกได้บรรลุข้อตกลงในการประชุมกันในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า อีกทั้งล่าสุด นายจาบาร์ อัล-ลูไอไบ (รมว.น้ำมันอิรัก) กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันบางรายมองว่า ควรมีการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 3-4 เดือน ขณะที่บางรายต้องการให้ขยายเวลาจนถึงสิ้นปีหน้า และอิรักเอง พร้อมจะแสดงการสนับสนุนให้มีการปรับลดการผลิตน้ำมันเช่นกัน
  ด้วยปัจจัยดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาน้ำมัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการลงทุนหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B116) ที่ราคายัง Laggard กว่าราคาน้ำมันดิบโลกอยู่มาก โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นทั้ง PTT และ PTTEP ปรับตัวขึ้นมาเพียง 10.3% และ 4.9% เท่านั้น

ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค รวมทั้งไทย 
  วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคมูลค่าราว 304 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ 129 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยไต้หวัน 121 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 15) ส่วนฟิลิปปินส์ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย 7 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) สำหรับตลาดหุ้นไทยต่างชาติขายสุทธิ 57 ล้านเหรียญ หรือ 1.8 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 1.1 พันล้านบาท 
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3.43 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิอีก 1.54 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)


LastUpdate 21/09/2560 12:10:46 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:34 am