ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มเล็กน้อย จากการคาดการณ์การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการคาดการณ์ผลการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่อาจจะพิจารณาขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2561 ออกไปอีก เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาน้ำมัน โดยการประชุมจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ (22 ก.ย. 60) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
+/- อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงมองว่า การปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอาจทำให้อุปทานจาก Shale Oil ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความคุ้มทุนในการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 8.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 9.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบบางส่วนได้หยุดดำเนินการไปในช่วงที่เกิดพายุเฮอริเคน Harvey
+ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการว่างงานที่ลดลงเป็นครั้งแรก โดยจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานลดลง 23,000 ราย สู่ระดับ 259,000 ราย ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ราย โดยการปรับลดของตัวเลขการว่างงานเป็นการสะท้อนภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่ประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลจากอุปทานในสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากพายุกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่ตึงตัวในขณะที่อุปสงค์ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียไปจำหน่ายยังภูมิภาคตะวันตกยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ในตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังโรงกลั่นโดยส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินการกลั่นได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 468.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงพายุ Harvey
ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกคาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นและผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD commercial stocks) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,016 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีเพียง 190 ล้านบาร์เรล โดนผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจาก 75% มาอยู่ที่ระดับ 82% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกความร่วมมือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119% ในเดือนดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา
จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 ก.ย. ว่าจะมีการออกมาตรการสำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดรัฐมนตรีของคูเวตกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตอยู่ระหว่างการชักชวนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต
ข่าวเด่น