ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อ หลังการปรับลดกำลังการผลิตเริ่มส่งผลให้ตลาดกลับเข้าสู่สมดุล
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อเนื่องหลังตลาดน้ำมันเริ่มกลับเข้าสู่สมดุลซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) โดยการปรับลดกำลังการผลิตนี้ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบเบรนท์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้มากนักเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ยังคงล้นตลาด แม้เฮอริเคน Harvey จะส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ชะงักไปราวร้อยละ 25 แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นและสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว
+ ประเทศอิหร่านวางแผนที่จะจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเซทไว้ที่ระดับ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี 2560 หลังอิหร่านสามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำมันดิบคงคลังได้อย่างเหมาะสมและความต้องการใช้น้ำมันดิบในประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอิหร่านได้หยุดดำเนินการขุดเจาะน้ำมันดิบที่แท่น South Pars เป็นเวลา 1-2 เดือนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกคอนเดนเซทในเดือนตุลาคมมีแนวโน้มลดลงไปอีกราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของการส่งออกคอนเดนเซดเฉลี่ยในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา
+/- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซียยังไม่ชี้ชัดเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศว่าจะยืดระยะเวลาออกไปจากเดือน มี.ค. 2561 เหมือนกลุ่มประเทศโอเปกหรือไม่ โดยการตัดสินใจจะเป็นที่แน่ชัดก่อนเดือน ม.ค. 2561
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อจากอิหร่านที่คาดจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53เ หรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงปิดดำเนินการกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 14.2 ของกำลังการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 472.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 3 สัปดาห์ติดต่อกันและสูงกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดพายุ Harvey ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดปริมาณการผลิตในเดือน ธ.ค. จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา นอกจากนี้ยังต้องจับตาการหารือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่
ข่าวเด่น