ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน ดัชนียังเผชิญแนวต้านระยะสั้น 1670 จุด (28/09/60)


 

 

กลยุทธ์การลงทุน
  ดัชนียังเผชิญแนวต้านระยะสั้น 1670 จุด โดยปัจจัยที่ให้น้ำหนักยังเป็นค่าเงินเอเชียที่กลับมาอ่อนค่า สวนทางกับสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากความคาดหวังว่า การลดภาษีสหรัฐทั้งระบบจะเกิดขึ้น  เป็นประเด็นบวกต่อหุ้นส่งออก HANA, GFPT, VNG, CPF ยังชื่นชอบหุ้น Laggards THCOM, INTUCH, VGI, PTTEP และหุ้นกำไรเด่นงวด 2H60 (HANA, TSTH, BCH) Top picks หุ้นส่งออก ชอบ HANA (FV@B53) และ GFPT(FV’61@B23) กำไรเข้าสู่ peak ในงวด 3Q60

 

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย.....กลุ่ม Mid-Small Cap ประคองดัชนียืนแดนบวก
  ตลาดภูมิภาควานนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย มีทั้งบวก-ลบ ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นอีกวัน โดยช่วงเช้าแกว่งตัวในแดนบวกจากหุ้นกลุ่ม Mid-Small Cap แต่ในช่วงบ่ายเห็นแรงขายจนดัชนีย่อลงไปแตะแนวรับที่ 1660 จุด ก่อนช่วงท้ายของตลาดจะดีดกลับขึ้นมาปิดที่ 1670.27 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.52 จุด หรือ 0.03% มูลค่าการซื้อขาย 5.49 หมื่นล้านบาท แรงหนุนมาจากการปรับขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลาง-เล็ก นำโดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อย่าง CBG ปิดที่ 87 บาท เพิ่มขึ้น 5.78% และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านราคาปรับตัวขึ้นไปแรงกว่า 17.84% ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมปรับตัวได้โดดเด่นเช่นกัน โดย MINT เพิ่มขึ้น 3.16% และ ERW เพิ่มขึ้น 0.81% อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ดีคือ ชิ้นส่วนฯ นำโดย KCE เพิ่มขึ้น 4.08%, HANA 2.17%, SPPT เพิ่มขึ้น 3.54%, SMT เพิ่มขึ้น 3.87% และ TEAM เพิ่มขึ้น 11.01% โดยหุ้น Top pick ในกลุ่มชิ้นส่วนอย่าง HANA ยังคงโดดเด่นที่สุดในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนที่หลากหลายและมีการปรับกลยุทธ์มาเน้นผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ สมาร์ทโฟนและฉลากอัจฉริยะ (RFID) และเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่ายิ่งส่งผลบวกสำหรับ HANA ซึ่งใน Q360 เป็นช่วง High season ของการส่งออกชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศ รวมถึงผลประกอบการใน 3Q60 จะขึ้นเป็นจุดสูงสุดของปีและทั้งปีเติบโตอีก 24% 
  ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวลง คือหุ้น Market Cap ใหญ่ในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ ทั้ง PTTEP, PTTGC, IRPC และ TOP ลดลง 1.10%, 0.64%, 1.57% และ 0.27% ตามลำดับ, กลุ่มค้าปลีก BJC ลดลง 1.88% และ MAKRO ลดลง 1.45% 
  ส่วนแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดยังแกว่งเพื่อสร้างฐาน จะมีแนวรับสำคัญอยู่ที่บริเวณ 1660 จุด แนวต้าน 1675/1680 จุด 

กนง. คงดอกเบี้ย แต่เพิ่ม GDP Growth ขึ้นดีต่อตลาดหุ้น 
  ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ เป็นตามคาด  กล่าวคือ ยังคงดอกเบี้ยฯที่ 1.5% ตามเดิมตั้งแต่ เม.ย. 2558  โดย กนง. มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีกว่าเดิม สะท้อนจากได้ปรับเพิ่ม GDP Growth ปี 2560 เป็น 3.8%yoy จากเดิม 3.5% (หลักๆมาจากการปรับเพิ่มสมมุติฐานส่งออกในรูปดอลลาร์ (x) เป็น 8% จาก 5% เนื่องจาก ส่งออกตั้งแต่ต้นปีสดใส เฉลี่ย 8M60 โต 8.9%, การบริโภคครัวเรือน และลงทุนเอกชนเป็น 3.3% และ  2.3% จากเดิม  3.1% และ  1.7% ตามลำดับ และปีหน้าคาด GDP Growth เป็น 3.8% จากเดิม 3.7%  ตามลำดับ  แต่มีการปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เหลือ 0.6%yoy จากเดิม 0.8% และปีหน้าเหลือ 1.2% จากเดิม 1.6%    
  ทั้งนี้การปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP Growth ปี  2560-2561 ของ กนง. ดังกล่าวถือได้ว่าสูงกว่า Consensus ในตลาดคาด และสูงกว่า ASPS คาดปีนี้จะโต 3.5%yoy และปีหน้ามีโอกาสแตะที่ 4% ถือเป็นปัจจัยบวกและหนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป 

 

มีข้อเสนอลดภาษีสหรัฐใหม่แล้ว  แต่ต่ำกว่าตอนหาเสียง  และต้องรอวุฒิสมาชิก
  ในที่สุดการเปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างภาษีอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์    หลังจากตลาดรอมานานนับจากชนะเลือกตั้งปลายปี 2559    แต่โครงสร้างภาษีใหม่ที่จะเสนอวานนี้ก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย  กล่าวคือ เสนอให้ลดภาษีนิติบุคล หรือภาษีบริษัทเหลือ  20% จากเดิม 35% (เท่ากับลดลง 15% ซึ่งยังน้อยกว่าที่เสนอตอนหาเสียงที่ต้องการลดเหลือ 15% (ลดลง 20%)) ทั้งนี้ลดภาระงบประมาณรัฐที่กำลังย่ำแย่     
  ส่วนภาษีบุคคลธรรมดาเสนอลดอัตราการจ่ายภาษีเหลือ 3 ขั้นจาก 7 ขั้นบันได คือ ลดอัตราภาษีสูงสุดจากเดิม 39.6%  ลงมาเหลือสูงสุด 35% โดยโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่  ดังนี้  12%, 25%, 35% ตามลำดับ ขึ้นกับฐานรายได้ภาษีของแต่ละคน ทั้งนี้หากมาตรการปฎิรูปภาษีผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายได้ เชื่อว่าจะช่วยหนุน ทั้งภาคธุรกิจ และการจ้างงาน ซึ่งน่าจะช่วยลดอัตราการว่างงานลงได้อีก จาก ปัจจุบันแกว่งตัวอยู่ที่  4.3-4.4% ซึ่งระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี และน่าจะเป็นระดับที่ถือว่ามีการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) และกระตุ้นภาคครัวเรือนเพราะภาษีที่ลดลงจูงใจผู้คนเข้ามาการทำงาน เพิ่มขึ้น ซึ่งก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะสร้างภาระ งบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างรายได้ทางภาษีกลับมา  ซึ่งจะกลับมากดดันค่าเงินในที่สุด
  และประเด็นนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐได้ตอบสนองด้านบวกไประดับหนึ่งแล้ว การผลักดันให้เกิดผลอย่างรูปธรรมน่าจะหนุนตลาดหุ้นสหรัฐได้อีกระยะหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับวุฒิสภาจะผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ ซึ่งฝ่ายวิจัยได้เคยนำเสนอไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ ดังกล่าว ได้แก่ IVL, TU และ CPF โดยได้รวมประเด็นดังกล่าวในประมาณการแล้ว กล่าวคือ
  IVL จะได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ปัจจุบันอยู่สูงถึง 38% ลงเหลือ 15% ส่งผลให้กำไรปี 2560 และ 2561 เพิ่มขึ้นจากเดิม 6.4% และ 8.3% ตามลำดับ โดยปัจจุบัน IVL มีกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ราว 2.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 20% ของกำลังการผลิตรวม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านตันต่อปี ในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 24% ของกำลังการผลิตรวม
  TU ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเช่นกัน ช่วยหนุนให้กำไรสุทธิปี 2560-61 เพิ่มขึ้น 3.0% และ 2.8% จากเดิม ตามลำดับ โดย TU มีบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ ประกอบด้วย ธุรกิจจำหน่ายทูน่ากระป๋องภายใต้แบรนด์ Chicken of the sea รวมไปถึงธุรกิจซื้อมา-ขายไปกุ้ง (Trading) และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง
  CPF ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเช่นกันแต่ไม่มากนัก โดยกำไรสุทธิปี 2560-61 เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดย CPF มีธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ Bellisio อยู่ในสหรัฐฯ
  เชื่อว่าทั้ง 3 หุ้น น่าจะได้รับ sentiment เชิงบวก แต่หากพิจารณาในเชิงปัจจัยพื้นฐานประกอบแล้ว แนะนำ ซื้อ IVL และ CPF จากแนวโน้มผลประกอบการ 3Q60 เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ TU แนะนำ switch โดยคาดกำไร 3Q60 มีโอกาสอ่อนตัวจากต้นทุนทูน่าสูงขึ้น
เงินบาทอ่อนหนุนหุ้นส่งออก  HANA, GFPT, CPF, VNG
  ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีฯ ของสหรัฐดังกล่าวหนุนค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าราว 1.1 % นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2560 (หลังจากที่อ่อนค่าราว 10% นับตั้งแต่ต้นปี) ส่งผลให้ค่าเงินคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเอเซียอ่อนค่า อาทิ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าราว  0.62% ในช่วงเดียวกัน เป็นผลดีต่อหุ้นส่งออก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากที่ยังมีส่วนต่างระหว่างรายได้หักต้นทุนในรูปดอลลาร์ (กล่าวคือ เงินบาทแข็งจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรลดลง ตรงกันข้ามเงินบาทอ่อนตัวจะหนุนการทำกำไร) ขณะที่งวด 3Q60 เข้าสู่ฤดูกาลส่งออก  โดยเฉพาะหุ้นชิ้นส่วนฯ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เติบโตตามเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ ในโลกดิจิทัล  ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาร์ทโฟน โทรคมนาคม (4G LTE)  และเทคโนโลยี Internet of things (IoT)  เป็นต้น สะท้อนได้จากข้อมูลของ North America Semi Bullings Report (ความต้องการชิ้นส่วนของโลก) เดือน ก.ค. อยู่ท่ 2.27 พันล้านดอลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อ่อนตัวเล็กน้อย 1.4% จากเดือน มิ.ย. 2560  ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี  โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงในภาวะนี้ คือ HANA(FV@B53) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนหลากหลาย   ทั้งกลุ่มยานยนต์  สมาร์ทโฟน และ ฉลากอัจฉริยะ (FRID) เป็นฉลาก หรือ บาร์โค้ช ที่ใช้แกนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ  พร้อมยังสามารถบันทึกข้อมูลไว้ใช้ประโยชน์ได้   ประเมินว่างวด 3Q60 จะสูงสุดของปีนี้ และทั้งปี จะเติบโต 24%  แต่อาจจะลดลงเหลือเติบโตเพียง 9% ในปีหน้า แต่ถือว่ายังเติบโตเท่ากับตลาด 
  VNG (FV@B14) ผู้ผลิตและจำหน่ายไม้เอ็มดีเอฟ และแผ่นไม้ปาร์ติเกิ้ล  โดยเป็น Net Exporter   โดยคาดปริมาณการขายในงวด 3Q60 ว่าจะทำสถิติ New high จากการเข้าสู่ช่วง High Season ของฤดูส่งออกซึ่งในปีนี้ VNG จะมีกำลังการผลิต MDF เพิ่มอีก 3 แสน ลบม./ปี จากการดัดแปลงเครื่องจักรโรงงาน Particle Board โดยปัจจุบันโรงงาน MDF แห่งใหม่ ได้เพิ่มการใช้กำลังการผลิตจนเต็มที่แล้ว จึงประเมินว่าว่า VNG จะสามารถกลับมาสร้างกำไรระดับ 450-500 ล้านบาทได้ใน 3Q60   โดยคาดกำไรสุทธิปี 2561 จะพลิกกลับมาเติบโตถึง 10.1% จากที่หดตัวในปี 2560  
  GFPT (FV ปี 2561@B23) ซึ่งเป็นผลิตและส่งออกไก่ ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลงวด 3Q60  น่าจะหนุนราคาไก่ปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันสู่ระดับ 40 บาท/ก.ก. ในงวด 2H60  ขณะที่ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองยังทรงตัวต่ำต่อเนื่องจากงวด 1Q60 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองยังออกสู่ตลาดมากขึ้น  แนวโน้มกำไรสุทธิปี  2560 จะเติบโต 15.8% แต่จะอ่อนตัวลงเหลือ 7.0% ปี 2561 
  CPF(FV@B29.40)  ซึ่งเป็นผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์ อาทิ ไก่ , เป็ด ,หมู , กุ้ง  มีแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้นในงวด 3Q60 จากที่ชะลอตัวในงวด 2Q60  จากผลระทบของธุรกิจสุกรในเวียดนาม แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ขึ้นขณะนี้ โดยพบว่าราคาสุกรในเวียดนามเริ่มทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่ลงไปแตะ 2 หมื่นดอง/ก.ก. โดยล่าสุดเพิ่มขึ้นมาที่ 3.3 หมื่นดอง/ก.ก. (เทียบเท่า 50 บาท/ก.ก.) เพิ่มขึ้นถึง 60% mom จากการที่จีนเริ่มทยอยเปิดด่านการค้าชายแดน ทำให้มีช่องทางระบายสุกรออกจากเวียดนาม   คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2561 จะพลิกกลับมาเติบโตถึง 33.5% จากที่หดตัวในปี 2560  จากการฟื้นตัวของธุรกิจสุกรในเวียดนาม  การส่งออกไก่ยังสดใส และอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง 

ราคาหุ้น PTTEP, PTT ยัง laggard ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่มาก
  วานนี้ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวลดลงราว 1.85 ล้านบาร์เรล  สวนทางกับที่ตลาดฯคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.42 ล้านบาร์เรล หนุนให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.5% มาอยู่ที่ 52.14 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่ยังมีประเด็นกดดันราคาน้ำมันจาก ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดพายุ Harvey เข้าพัดถล่มสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ สร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.63 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณส่งออกในสัปดาห์ก่อนหน้า
  อย่างไรก็ตามภาพรวมระยะยาว ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุน จากปริมาณน้ำมันดิบโลกมีโอกาสกลับสู่จุดสมดุลอีกครั้ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 
  เนื่องจาก Oversupply มีแนวโน้มลดลง จากกลุ่มโอเปกมีโอกาสตัดสินใจว่าจะมีการขยายระยะเวลาในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ม.ค. 61 รวมถึงมีบางประเทศให้ความเห็นว่าอาจจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้ เมื่อมีการประชุมอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 60 นี้ 
  คาดความต้องการใช้น้ำมันน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และน่าจะตามด้วยประเทศกำลังพัฒนาอย่างเอเชีย  ช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบโลกอีกแรง
  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการลงทุนหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B116) ที่ราคายัง Laggard กว่าราคาน้ำมันดิบโลกอยู่มาก โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นทั้ง PTT และ PTTEP ปรับตัวขึ้นมาเพียง 10.29% และ 3.16% เท่านั้น ขณะที่น้ำมันดิบโลกอย่าง Dubai ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 25.07%  รวมถึงหุ้น BANPU(FV@B24)  นับจากต้นปีจนปัจจุบัน (ytd) ราคาหุ้นยังติดลบราว 8.3% สวนทางราคาถ่านหินปรับตัวขึ้น 31.3%ytd ขณะที่ราคาหุ้นยังมี upside 36%

ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง แต่ยังซื้อไทยเล็กน้อย
  วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องอีก 307 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) โดยเป็นการขายสุทธิเกือบทุกแห่งนำโดย เกาหลีใต้ 220 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), ตามมาด้วยไต้หวัน 29 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7), ฟิลิปปินส์ 37 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และอินโดนีเซีย 23 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานกว่า 20 วัน) ยกเว้นเพียงตลาดหุ้นไทยพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 3 ล้านเหรียญ หรือ 83 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 615 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศขายสุทธิ 322 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ขายสุทธิกว่า 8.1 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)


บันทึกโดย : วันที่ : 28 ก.ย. 2560 เวลา : 11:33:58

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:07 am