ราคาน้ำมันดิบปรับลงเล็กน้อย จากการขายทำกำไรและความกังวลต่อปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ
(-) ราคาน้ำมันดิบขยับลงต่อเล็กน้อย หลังนักลงทุนขายทำกำไรสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อระดับราคาน้ำมันที่สูง ซึ่งอาจส่งผลปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ (Shale Oil) กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น
(+) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากข้อคิดเห็นของนาย Mohammad Barkindoเลขานุการกลุ่มโอเปก ถึงความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก (Compliance Rate) ที่อยู่ระดับสูงในขณะนี้ และอาจมีการตกลงเพิ่มเติมซึ่งตลาดต้องติดตามสถานการณ์ต่อในการประชุมโอเปกเดือน พ.ย.
(+) ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนหลังตลาดปิดทำการซื้อขาย จากการรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API)ปรับลดลง 4.1ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 465.4ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 756,000บาร์เรล
(-) ในขณะที่ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปได้รับแรงกดดันจากการรายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของ API ที่ปรับเพิ่ม 4.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับเพิ่มเพียง 1.1 ล้านบาร์เรลเท่านั้น และปริมาณน้ำมันดีเซลและ Heating Oil ปรับลดลง 584,000บาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลงราว 1.8ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากตลาดซึ่งให้น้ำหนักด้านความกังวลต่ออุปสงค์ที่จะปรับตัวลดลงหลังสิ้นสุดเทศกาลขับขี่ในสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีแรงสนับสนุนจากการรายงานโควต้าส่งออกน้ำมันของจีนที่ปรับลดลงกว่าร้อยละ 16.9
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่ยังไม่ฟื้นตัวแม้ว่าประเทศจีนจะประกาศยกเลิกการห้ามทำประมงในช่วงฤดูวางไข่แล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความคุ้มค่าในการจำหน่ายน้ำมันดีเซลภายในภูมิภาคไปยังฝั่งตะวันตกปรับลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันคุ้มทุนที่จะเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในเดือนต.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นราว 79,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา แตะระดับ 6.083 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำเนินการอีกครั้งของผู้ผลิตในพื่นที่ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก หลังผ่านช่วงการพัดถล่มของพายุ Harvey
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบทื่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการกลั่นทรงตัว หลังโรงกลั่นส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey กลับมาดำเนินการเต็มกำลังตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ประเทศอิรัก หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก จัดการลงประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประชามติครั้งนี้จะยังไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศรวมถึงรัฐบาลอิรัก และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ตุรกี และอิหร่าน ซึ่งเกรงว่าการกระทำครั้งนี้จะทำให้ชาวเคิร์ดในประเทศอื่นในตะวันออกกลางกระทำตาม และล่าสุดนาย Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีตุรกี ขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
ข่าวเด่น