ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากสัญญาณการลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2561
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังนายวลาดิเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการประชุมทางด้านพลังงานร่วมกับผู้นำในกลุ่มโอเปกที่กรุงมอสโคเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ถึงโอกาสในการขยายระยะเวลาข้อตกลงระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในการลดกำลังการผลิตออกไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2561 โดยให้เหตุผลว่าการจำกัดปริมาณอุปทานช่วยทำให้ตลาดสมดุลและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก
+ ตลาดยังคงมีความกังวลต่อข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอิหร่านและชาติมหาอำนาจที่เคยลงนามไปเมื่อปี 2558 หลังผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจพิจารณาถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าอิหร่านสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันจากประเทศอิหร่านอาจถูกจำกัด
- ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการอีกครั้งของแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดของลิเบีย หลังหยุดดำเนินการผลิตไป 2 วัน จากการถูกโจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง
+/- ธนาคารโลกประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดปีนี้โตได้ร้อยละ 2.9 เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตขึ้นร้อยละ 6.7 รวมถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.1
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกจากอินเดียที่ลดลงทำให้อุปทานตึงตัว ประกอบกับอุปสงค์ในภูมิภาคตะวันออกกลางเช่น อียิปต์และคูเวต ยังคงแข็งแกร่ง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับโอกาสในการส่งน้ำมันจากภูมิภาคตะวันออกกลางไปยังยุโรปยังคงมีอยู่ เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลจากสหรัฐฯ ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและกำลังการกลั่นที่คาดจะทรงตัวในระดับสูง หลังโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 60 ปรับลดลงราว 6.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 464 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.76 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวจะอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิเช่น ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
ข่าวเด่น