ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 2 จากความกังวลในเรื่องของอุปทานล้นตลาด
- ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 2 จากความกังวลในเรื่องของอุปทานล้นตลาด โดยตลาดเริ่มกังวลว่า ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มปริมาณการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Baker Hughes รายงานว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ต.ค. 60 ปรับตัวลดลง 2 แท่นมาอยู่ที่ 748 แท่น ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่สี่จากทั้งหมดห้าสัปดาห์
- อเล็กซานเดอร์ โนวัก รัฐมนตรีน้ำมันของรัสเซีย เปิดเผยว่ารัสเซียและซาอุดีอาระเบียสนับสนุนข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ข้อตกลงที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปหรือไม่นั้น ควรรอให้ใกล้ถึงวันครบกำหนดของข้อตกลงในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ก่อนจึงค่อยพิจารณาอีกครั้ง
+ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย หวังว่า ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและรัสเซียจะสามารถหาข้อสรุปในเรื่องของข้อตกลงในปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันก่อนการประชุมกลุ่มโอเปกในเดือน พ.ย. และยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ซาอุดิอาระเบียมีความยืดหยุ่นในการขยายระยะเวลาการผลิตไปจนถึงสี้นปี 2561
+/- นักลงทุนจับตาพายุโซนร้อน Nate ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก โดยล่าสุด แหล่งผลิตน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้หยุดดำเนินการผลิตไปแล้วกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่พายุดังกล่าวจะทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอร์ริในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์และสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลในเรื่องของผลกระทบของพายุโซนร้อน Nate ต่ออุปทานน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันเบนซินไม่ลดลงไปมากนัก
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากออสเตรเลีย ประกอบกับอุปทานที่ปรับลดลงจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและกำลังการกลั่นที่คาดจะทรงตัวในระดับสูง หลังโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 60 ปรับลดลงราว 6.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 464 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.76 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวจะอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิเช่น ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
ข่าวเด่น