กลยุทธ์การลงทุน
คาดตลาดจะกลับเข้าสู่การปรับฐาน หลังขึ้นไปแตะ 1700 จุด โดยยังเป็นการสลับหมุนเวียนรายกลุ่ม ระยะสั้นเชื่อว่ายังให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจในประเทศที่รัฐยังคงกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ผ่านช็อบช่วยชาติ แต่การรายงานงบงวด 3Q60 ของกลุ่ม ธนาคาร อาจจะทำให้มีแรงขายรับงบระยะสั้น กลยุทธ์ให้ปรับพอร์ตขายหุ้นแพงเช่น BCP, ESSO, TOP, AOT แต่ให้สะสมหุ้น laggards โรงพยาบาล (LPH) ค้าปลีก (BJC) สื่อสาร (THCOM, INTUCH) สื่อนอกบ้าน (VGI) พลังงาน (PTTEP) และส่งออก (HANA, GFPT, VNG) Top picks เลือก COM7(FV@B15.5) กำไรโดดเด่นงวด 2H60 และ INTUCH(FV@B72.4) มี upside 25.91%
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ..... กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ หนุนตลาด
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นโดดเด่นส่งท้ายสัปดาห์ ช่วงเช้า SET Index เปิดโดดกว่า 5 จุด และแกว่งตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านจิตวิทยาที่ 1700 จุด ก่อนจะย่อลงมาปิดที่ 1695.97 จุด เพิ่มขึ้น 5.10 จุด หรือ 0.30% มูลค่าการซื้อขาย 5.95 หมื่นล้านบาท แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น นำโดย PTT เพิ่มขึ้น 0.48% PTTGC เพิ่มขึ้น 3.12% TOP เพิ่มขึ้น 5.01% IRPC เพิ่มขึ้น 2.36% และกลุ่มโรงไฟฟ้า ปรับขึ้นโดดเด่น นำโดย BPP เพิ่มขึ้น 7.27% BCPG เพิ่มขึ้น 5.03% RATCH เพิ่มขึ้น 0.93% GPSC เพิ่มขึ้น 2.24% และ GUNKUL เพิ่มขึ้น 3.48% โดยฝ่ายวิจัยยังเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มพลังงานทดแทน โดยแนวโน้มผลประกอบการใน 2H60 น่าสนใจมากขึ้น โดยจะมีโครงการใหม่ๆ ทยอยรับรู้เต็มปีเป็นปีแรก ทั้งโครงการไฟฟ้าพลังงานลม WED , โรงไฟฟ้าโซลาร์รางเงิน และโครงการ BMP ราคาปัจจุบัน laggard สวนทางพื้นฐานอยู่มาก ราคา fair value ปี 60 อยู่ที่ 5.15 บาท มี upside กว่า 23.8%
กลุ่มอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นคือ กลุ่มโรงพยาบาล หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้ายัง underperform ตลาดฯ โดย BDMS เพิ่มขึ้น 0.98% ตามด้วย BCH 0.63% CHG เพิ่มขึ้น 1.59% ส่วน LPH ราคาหุ้นยัง underperform กลุ่มฯ อยู่มาก ปรับลดลง 0.59% ซึ่งฝ่ายวิจัยยังเลือก LPH เป็น Top pick ของกลุ่มฯ จากแนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น หนุนจากการเปิด Excellent center ที่ช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยเงินสด และการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใน 4Q60 และ 1Q61 ประมาณ 53 และ 64 ล้านบาท ตามลำดับ โดย Upside ปัจจุบันอยู่ที่ 34.5%
หุ้นที่ปรับลงคือกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ นำโดย KBANK ลดลง 0.48% ตามด้วย KTB -0.53% SCB -ง 0.66% และ BBL ลดลง 0.53% ซึ่งตั้งแต่สัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการงวด 3Q60 เริ่มจากกลุ่ม ธ.พ.
สำหรับแนวโน้มตลาดฯ เชื่อว่าตลาดฯ น่าจะค่อยๆ แกว่งขึ้น โดยแนวต้านสำคัญยังอยู่ที่ 1700 จุด หากยังผ่านไม่ได้ก็อาจกลับลงมาพักฐานต่อที่บริเวณ 1680 จุด
ตลาดแรงงานสหรัฐ หดตัวช่วงสั้น จากผลกระทบของพายุฯ
สหรัฐรายงานตลาดแรงงานล่าสุด พบว่าชะลอตัวลง คือ ยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non farm payrolls) เดือน ก.ย. ผิดจากที่ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 9 หมื่นราย แต่กลับลดลง 3.3 หมื่นราย จากเพิ่ม 1.69 แสนรายในเดือน ส.ค. (ลดลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี) ผลกระทบช่วงสั้นจากพายุเฮอร์ริเคน Harvey และ Irma แต่เชื่อว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค. แต่คาดจะทรงตัว
ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐในเดือนเดียวกันลดลงเหลือ 4.2% (ต่ำสุดในรอบ 17 ปี) จาก 4.4 % ในเดือน ส.ค. เนื่องจากแรงงานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราว่างงานที่แกว่งตัวอยู่ในช่วง 4.2-4.4% ถือว่าระดับการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวแข็งแกร่งในปีนี้ สอดคล้องกับ IMF คาด GDP growth ปี 2560-61 ขยายตัวเท่ากันที่ 2.1% จาก 1.9% ในปี 2559 (1H60 ที่ 2.1%) ทำให้เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) จะขึ้นดอกเบี้ยฯ แบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกัน แม้ตลาดคาดอีก 1 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องผลสำรวจ Bloomberg ที่ว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในรอบ ธ.ค. มีสูงถึง 78.5% และขึ้นในปีหน้าอีก 3 ครั้ง ราว 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปี 2560 ที่ 1.5% และ 2.25% ในปี 2561
และปัจจัยต่างประเทศที่ควรให้ความสนใจคือ 13-15 ต.ค. IMF รายงานเศรษฐกิจโลก และ 13 ต.ค. รายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ย. ซึ่งตลาดคาดจะพุ่งขึ้นที่ 2.3%yoy จาก 1.9% ในเดือน ส.ค. ซึ่งถือว่าเกินกว่า เป้าหมาย ที่ 2.0% มาก แต่เป็นผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน ซึ่งเกิดขึ้น ชั่วคราว
มาตรการช็อปช่วยชาติกลับอีกหนุนหุ้นค้าปลีก COM7, BJC, BEAUTY
16 ต.ค. นี้ รัฐบาลเตรียมเรียกภาคเอกชน ในกลุ่มค้าปลีก เพื่อเข้าหารือแนวทางกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรมี มาตรการช็อปช่วยชาติ ดังเช่น ปลายปี 2559 ราว 18 วัน ( 14-31 ธ.ค.2559) คือนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทมาลดหย่อนภาษี เป็นการกระตุ้นการบริโภคต่อผู้มีรายได้ปานกลางโดยตรง และดีต่อธุรกิจค้าปลีก ซึ่งน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ และสอดคลัองกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI) ในเดือนถัดไป ๆ หลังจากเดือน ก.ย.2560 ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เศรษฐกิจภาคอื่นๆ มีการฟื้นตัวในลักษณะเดียวกัน คือ การส่งออก, การท่องเที่ยว เป็นต้น
ล่าสุดดัชนีชี้นำหุ้นค้าปลีกมีสัญญาณที่ดีขึ้นในทิศทางเดียวกับ CCI ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการถึงการเติบโตยอดขายสาขาเดิม (SSSG)ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น BJC เดือน ก.ค. (SSSG) เพิ่มขึ้น 6% และเพิ่มขึ้นเดือน 10% ใน ส.ค. และ ก.ย. ทำให้งวด 3Q60 SSSG เติบโตเฉลี่ย 8-9% YoY เทียบกับที่หดตัว 15.2%YoY ใน 2Q60 ตามด้วย HMPRO คาด SSSG ในเดือน 3Q60 จะเพิ่มขึ้น 1-2%YoY จากหดลง 4.7% ใน 2Q60 CPALL เพิ่มขึ้น 1-2%YoY จากหดตัว 1%YoY ใน 2Q60 และ TNP คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 1-2%YoY จากเพิ่มขึ้น 0.1%YoY ใน 2Q60
และ ที่มีการเติบโตของ SSSG โดดเด่นและต่อเนื่อง คือ BEAUTY ซึ่งคาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 10-15%YoY จากเพิ่มขึ้น 20.8%YoY ใน 2Q60 และ COM7 คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 10%-15%YoY จากเพิ่มขึ้นราว 12%YoY ใน 2Q60
ทั้งนี้ยกเว้น บางรายที่ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่ม อาทิ MAKRO และ ROBINS น่าจะมียอดขายสาขาเดิมหดตัวเท่าๆกันที่ราว 1%YoY แต่เป็นอัตราที่น้อยลงจากงวด 2Q60 คือ MAKRO ลดลง 1.4%YoY และ ROBINS ลดลง 2%YoY
กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด และชอบหุ้นที่มี SSSG กลับมาเติบโตเร็วกว่ากลุ่มฯ พร้อมกำไรที่ยังเติบโตโดดเด่นในปี 2560 ต่อเนื่องถึง 2561 แต่เนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่เกิน Fair Value ปี 2560 จึงให้มองข้ามไปใช้ปี 2561 อาทิ BEAUTY(FV@B15.4 ปี 2561 FV@B20), BJC(FV@B50, ปี2561 FV@B60), COM7 (FV@B15.5 ปี2561 FV@B19) และเลือกเป็น Top picks
ICAO ปลดธงแดงบวก THAI, AAV สั้นๆ ระยะยาวชอบ BA มากกว่า
ข่าวเมื่อสุดสัปดาห์ กรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ปลดธงแดง (แสดงถึงการกำกับดูแลธุรกิจการบินประเทศไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล) อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากถูกธงแดงมานาน 2 ปี ข่าวนี้ถือเป็นผลดีต่อธุรกิจการบินที่จะมีความยืดหยุ่นในการ ปรับเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ถูกระงับในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ทางสหรัฐที่ผ่านมา หน่วยงานกำหนดมาตรฐานการบินของสหรัฐ (FAA) ได้ระงับการ การเปิดเส้นทางบิน โดยใช้มาตรฐานของสหรัฐฯ (CAT) ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะมีแนวโน้มปรับระดับมาตรฐานการบินของประเทศไทยกลับสู่ปกติเช่นกัน (จากเดิมที่ถูกลดจากระดับ 1 เป็น 2 ซึ่งหมายถึงห้ามเปิด/เปลี่ยนแปลงเส้นทางการบิน) แต่ปัจจุบันสายการบินในประเทศโดยเฉพาะ THAI ไม่ได้เปิดให้บริการเส้นทางนี้อยู่แล้ว ส่วน เส้นทางยุโรป ที่ใช้มาตรฐานตนเองเช่นกัน ที่ผ่านมาไม่มีประเด็นการปรับลดมาตรฐานของไทย และยังให้สายการบินสัญชาติไทยขยายเส้นทางปกติ
ภาพรวมคาดว่าจะดีต่อสายการบินที่มีแผนขยายเส้นทางบินในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ คือ THAI รองลงมา คือ NOK ที่มีสายการบินนก สกู๊ต (ถือหุ้นราว 50%) ซึ่งเดิมวางแผนขยายเส้นทางญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งอาจจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากเส้นทางส่วนใหญ่ที่กระจุกตัวอยู่ในเส้นทางในประเทศที่แข่งขันสูง
และ อีกแห่ง คือ AAV(ถือหุ้นโดยกลุ่ม King Power 40% ที่ถือหุ้น 55% ในสายการบินไทย แอร์ เอเชีย (อีก 45% ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad) ที่น่าจะประโยชน์จากการรับผู้โดยสารต่อจาก สายการบินในกลุ่มเดียวกัน คือ ไทย แอร์เอเชีย เอ๊กซ์ (ถือหุ้นโดยนักลงทุนไทย 51% และ Air Asia Berhad 49%) ที่คาดจะสามารถเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงกดดันจากการแข่งขันสูงและน้ำมันขาขึ้น ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยยังแนะนำ Switch AAV(FV@B5.5) และ THAI(FV@B19.0) ที่เต็มมูลค่า ไปยัง BA(FV@B22.4) ที่ราคาหุ้นยัง laggards ขณะที่เชื่อว่าผลประกอบการ จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ 3Q60 จากผลบวกการเข้าสู่ช่วงท่องเที่ยวสมุย เส้นทางบินหลักที่ BA ให้บริการ
หุ้นธนาคารอาจมีแรงขายช่วงสั้นหลังประกาศงบกลางสัปดาห์นี้
นับตั้งแต่กลางสัปดาห์นี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการงวด 3Q60 ซึ่งจากการประเมินภาพรวมคาดว่าจะเห็นการเติบของกำไรสุทธิทั้ง yoy และ qoq (งวด 3Q59 กำไรสุทธิรวม 2.14 แสนล้านบาท และ 2Q60 กำไรสุทธิรวม 2.22 แสนล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่จะประกาศผลได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งภายใต้ Coverage จะมีกำไรสุทธิรวม 4.90 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% qoq (แต่ลดลง 5.5% yoy) ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญโดยเฉพาะกลุ่ม ธ.พ.ใหญ่ ปรับลดลงจากเดิม 4.55 หมื่นล้านบาทในงวด 2Q60 มาอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เพิ่มขึ้นจากธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ การขายกองทุน รวมทั้งค่าธรรมเนียมฯ สินเชื่อรายใหญ่ แต่ภาพรวมสินเชื่อสุทธิยังค่อนข้างทรงตัว เช่นเดียวกับ NIM ทรงตัวที่ 3.1% โดยในไตรมาสนี้คาด KTB, KKP, BBL, BAY กำไรเติบโตโดดเด่น ส่วน TMB คาดกำไรหดตัว qoq
ทั้งนี้ ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจในช่วง 2H60 และปี 2561-62 ที่ยังเอื้อต่อการเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกเต็มที่ต่อแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2561-62 ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตเฉลี่ยกว่า 11% จากปีนี้ที่คาดกำไรสุทธิเติบโตเพียง 3% โดยหุ้น Top Picks ในกลุ่มฯ เลือก SCB (FV@B178.50), KBANK (FV@B233) และ TCAP (FV@B53) แต่เนื่องจากความกังวลต่อ PACE กับ SCB (ในฐานะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่) ยังคงมีอยู่ แนะนำซื้อ SCB เมื่อราคาย่อตัว
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค เช่นเดียวกับไทย
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นเกาหลีใต้ยังคงหยุดทำการ (โดยหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 2-9 ต.ค. 60 นี้) แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 14 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ขายสุทธิ 90 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 86 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 2 แสนเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน) และไทย 17 ล้านเหรียญ หรือ 580 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 159 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศสลับมาซื้อสุทธิ 890 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อย 65 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า)
ข่าวเด่น