แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวเม็กซิโก หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบต้องอพยพคนงานและหยุดการผลิตอันเนื่องมาจากพายุโซนร้อน Nate ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและกำลังการกลั่นที่คาดจะทรงตัวในระดับสูง รวมถึงผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และการกลับมาดำเนินการของผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและกำลังการกลั่นที่คาดจะทรงตัวในระดับสูง หลังโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 60 ปรับลดลงราว 6.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 464 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.76 ล้านบาร์เรล
จับตาดูพายุโซนร้อน Nate หลังจากที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 10 ชีวิต และส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักที่คอสตาริก้า และนิคารากัว โดยมีคาดการณ์ว่าพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวมายังอ่าวเม็กซิโกและจะทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนและก่อให้เกิดดินถล่มในรัฐลุยเซียน่า โดยหน่วย BSEE ของสหรัฐฯ คาดว่าการผลิต 71 % ของอ่าวเม็กซิโกจะหยุดลง ขณะที่โรงกลั่นในรัฐลุยเซียน่าเตรียมลดการผลิตลงเพื่อรับมือกับการเกิดดินถล่มดังกล่าว
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา และประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 1 พย.นี้ ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น ขณะที่อิหร่านยุติการส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปยัง KRG จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและการส่งออกของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณการส่งออกของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตของลิเบียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่สุดในลิเบียและมีกำลังการผลิตสูงถึง 230,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่เดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองในอิรักยังคงอยู่ในระดับสูง หลังชาวเคริด์ได้ลงประชามติเพื่อแยกเป็นประเทศเอกราช
ข่าวเด่น