กลยุทธ์การลงทุน
โอกาส SET ปรับฐานยังมี หลังดัชนีขึ้นเกือบ 10% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรายงานงบ 3Q60 ของกลุ่ม ธ.พ. ยกเว้น BBL มีประเด็นบวกหนุน หลังทำสัญญาเป็นตัวแทน AIA หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และยังได้ผลบวกจากการฟื้นตัวสินเชื่อขนาดใหญ่ตาม Investment Cycle รอบใหม่ กลยุทธ์สลับขายหุ้นแพงมาซื้อหุ้นถูก สื่อสาร (THCOM, INTUCH) พลังงาน (PTTEP) ธนาคาร (KKP) วัสดุก่อสร้าง (SCC, VNG) Top picks BBL(FV’61@B210) และให้ Switch จาก TCAP(FV@B53) มาเข้า KKP(FV@78) กำไรงวด 3Q60 สดใส ซึ่งราคาหุ้นยัง Laggard กว่า
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…ยังต้องวัดใจกับแนวต้าน 1725 จุด
วานนี้ SET Index แกว่งตัวในแดนลบตลอดวันจากแรงขายทำกำไร กดดันดัชนีย่อลงไป 1719 ก่อนจะดีดกลับขึ้นมาปิดที่ 1724.47 จุด ลดลงเล็กน้อย 2.20 จุด หรือ 0.13% มูลค่าการซื้อขายยังหนาแน่นกว่า 6.38 หมื่นล้านบาท จากแรงขายรายหุ้นในกลุ่ม ICT โดยเฉพาะ DTAC ลดลงแรงกว่า 7.39% จากแนวโน้มของผลประกอบการใน 3Q60 ที่คาดว่าหดตัวแรง 18%qoq บวกกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีกว่า 41% ซึ่งเกินมูลค่าพื้นฐาน จึงแนะนำให้ switch ไปยังหุ้นกลุ่ม ICT ตัวอื่นที่ยังมี upside คือ THCOM, INTUCH และ ADVANC
ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่าง TMB ลดลงกว่า 3.82% จากแรงขาย sell on fact เช่นเดียวกับ TISCO ลดลง 2.60% ส่วนหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มฯ ที่ปรับลดลงคือ SCB ลดลง 0.33% และ TCAP ลดลง 0.94% ASPS ยังแนะนำให้หุ้น BBL เพราะมีปัจจัยหนุนจากการร่วมมือกับ AIA ขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางธนาคาร ช่วยผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตโดดเด่นในปีหน้า
และหุ้นรายตัวที่ลงติด Floor คือ GL หลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร GL ต่อ DSI กรณีทุจริตทำธุรกรรมอำพราง เพื่อให้ผลประกอบการสูงเกินความเป็นจริง จนเป็นเหตุให้ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารท่านหนึ่งลาออกไป
ตรงข้ามหุ้นที่ขึ้นสวนทางตลาดคือ หุ้นในกลุ่มปิโตรเลี่ยมทั้ง PTT และ PTTEP เพิ่มขึ้น 0.47% และ 0.27% ตามลำดับ ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับขึ้นแรงคือ BPP เพิ่มขึ้น 5.83% และ TKN เพิ่มขึ้น 6.84%
สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ ยังคงต้องดูกันต่อว่าดัชนีจะสามารถยืนเหนือแนวต้านบริเวณ 1725 จุด ได้หรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะยืนไม่อยู่แล้วลงมาปรับฐานบริเวณ 1718 จุด
อังกฤษมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อสูงมาก ทั้งที่ความเสี่ยงยังมีอยู่
อังกฤษ รายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. อยู่ที่ 3.0%yoy เพิ่มขึ้นจาก 2.9%yoy เดือน ส.ค. (สูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือนและขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) เป็นผลจากราคาน้ำมัน และเคหสถานที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าต่อในเดือน ก.ย. ทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยฯ หักอัตราเงินเฟ้อติดลบ 2.75% (ดอกเบี้ย 0.25% เทียบกับเงินเฟ้อ 3.0%) และน่าจะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นสอดคล้องกับผลสำรวจ Bloomberg คาด BOE จะขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี คือ รอบ พ.ย. อยู่ที่ 80.3% และรอบ ธ.ค. อยู่ที่ 82.8% ซึ่งจะหนุนให้เงินปอนด์ชะลอการแกว่งตัวในทิศทางแข็งค่า
และเช่นเดียวกับยุโรปอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ยังคงทรงตัวที่ 1.5%yoy เป็นเดือนที่ 2 โดยช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยฯ และเงินเฟ้อยังติดลบ 1.5% (ดอกเบี้ย 0% เทียบกับเงินเฟ้อ 1.5%) ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่อาจจะล่าช้ากว่า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศสมาชิก อาทิ Brexit, เลือกตั้งอิตาลีใน 1Q2561
สหรัฐลุ้นประธาน Fed คนใหม่ จะหนุนนโยบายทรัมป์ ได้หรือไม่
ขณะที่สหรัฐประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักในช่วงนี้คือ การคัดเลือกประธาน Fed คนต่อไปมาแทนคนปัจจุบัน ซี่งจะสรุปผลภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ (นางเจเน็ต เยลเลนประธาน Fed จะครบวาระ ก.พ.2561) โดยตลาดคาดว่าคนที่เป็นตัวเต็งจะต้องเป็นผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ผลสำรวจล่าสุดมี 2 คนใน 5 คนที่มีโอกาสได้รับเลือกมากที่สุด คือ
นาย Jerome Powell ซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการ Fed ปัจจุบัน ผลสำรวจพบว่ามีโอกาส 29% เพราะรัฐมนตรีการคลังสหรัฐ เป็นผู้สนับสนุนมีแนวคิดใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป และ
นาย John Taylor (นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Stanford) ด้วยโอกาส 25% เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้การสนับสนุน และมีแนวคิดสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับโครงสร้างภาษี
อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ตลาดจะคาดโอกาสขึ้นดอกเบี้ย รอบ ธ.ค. ด้วยโอกาส 80% และปีหน้า คาดว่าจะขึ้นอีก 3 ครั้ง ซึ่งน่าจะหนุนให้เงินดอลลาร์แกว่งตัวในทางทิศแข็งค่า หลังจากที่อ่อนค่ามากนาน
Sell on fact TISCO, LH, TMB, TCAP ยกเว้น BBL มีประเด็นบวกหนุน
กลุ่ม ธ.พ. ยังทยอยรายงานงบฯ 3Q60 ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจาก TISCO (FV’61@B 93.5) รายงานกำไรสุทธิออกมาตามคาดที่ 1.57 พันล้านบาท เติบโต 22%yoy และ 2%qoq หนุนด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เป็นหลัก ตามด้วย LHBANK (FV’61@B 2.33) กำไรสุทธิดีกว่าคาดที่ 671 ล้านบาท เติบโต 8.8%yoy แต่ลดลง 4%qoq จากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เติบโตโดดเด่นเช่นกัน
วานนี้ TMB (FV’61@B 2.65) รายงานกำไรสุทธิตามคาดที่ 2.33 พันล้านบาท หดตัวถึง 14.0% qoq และ 8.6% yoy เกิดจากการลดลงของรายได้อื่นๆ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ดีกว่าคาดจากการขายประกันผ่านช่องทาง bancassurance ของ FWD ทำให้รับรู้รายได้ล่วงหน้าราวไตรมาสละ 330 ล้านบาท ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิค่อนข้างทรงตัวตามยอดสินเชื่อสุทธิที่ทรงตัว โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโต 13.1% yoy และ 10.6% yoy
ส่วนวันนี้คาดว่าจะมีการรายงานงบของ TCAP (FV@B53) ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิ 3Q60 อยู่ที่ 1.68 พันล้านบาท เติบโต 0.4% qoq และ 12.0% yoy จากการเติบโตของธุรกิจหลัก โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่โดดเด่นมากสอดคล้องกับธุรกรรมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์ยังทรงตัว โดยรวมคาดกำไรสุทธิปีนี้โตถึง 17% และปีหน้า 12% คาด div yield ปีนี้ราว 4% แต่ยังไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษในการขายหุ้น MBK แต่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ระยะสั้นจึงยังคงแนะนำ switch มายัง KKP (FV@B 78.5) คาดกำไรฯ งวด 3Q60 อยู่ที่ราว 1.30 พันล้านบาท เติบโต 9.4%qoq ดีขึ้นจากงวด 2Q60 กำไรสุทธิอ่อนตัวเหลือเพียง 1.19 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นและคาดว่าการตั้งสำรองฯ จะลดลงในไตรมาสนี้ โดยรวมคาดกำไรสุทธิปีหน้าเติบโต 15% จากปีนี้ที่ทรงตัว ทั้งยังสามารถคาดหวัง div yield ปีนี้ได้สูงถึง 8% (คาดจ่ายปันผลงวดผลประกอบการ 2H60 ที่ 4 บาท) จึงยังแนะนำให้สะสมเพิ่มได้
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาด ธ.พ.10 แห่งที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิ 3Q60 เท่ากับ 4.90 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.1%qoq (แต่ยังลดลง 5.5% yoy) หนุนด้วย ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ คาดว่าจะลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม ธ.พ.ใหญ่ ขณะที่คาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมฯ เพิ่มขึ้นจากธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ ขายกองทุน ค่าธรรมเนียมฯ ที่เกี่ยวกับสินเชื่อรายใหญ่ และ bancassurance ยังชอบ BBL (FV’61@B210) มากสุดจากการเข้าทำสัญญาเป็นตัวแทนขายประกันให้กับ AIA น่าจะหนุนค่าธรรมเนียมรับล่วงหน้าจำนวนที่สูงตามขนาดและจำนวนสาขาที่ให้บริการของ BBL
ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แม้สลับมาขายไทยเล็กน้อย
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่าราว 61 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ 116 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ตามมาด้วยไต้หวัน 30 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) และฟิลิปปินส์ 10 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 72 ล้านเหรียญ (ซึ่งในช่วง 34 วันทำการที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 22 ล้านเหรียญ หรือ 740 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 1.34 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า)
แม้วานนี้ต่างชาติจะสลับมาขายหุ้นไทยบ้าง แต่ภาพรวม Fund Flow ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดในภูมิภาคกว่า 660 ล้านเหรียญ หรือ 2.19 หมื่นล้านบาท ช่วยผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคกว่า 8.75% ในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือน
ข่าวเด่น