ราคาน้ำมันดิบพุ่งกว่า 2% หลังซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียหนุนการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2% โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 58 หลังจากซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียสนับสนุนการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปีหน้า จากเดิมที่มีกำหนดจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
+ นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับตะกร้าของเงินสกุลหลัก หลังจากมีข่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเลือกนายเจอโรม พาวเวล หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นประธาน Fed คนใหม่แทนนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed คนปัจจุบันที่จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 31 ม.ค. 61 ทั้งนี้ นายพาวเวลเป็นเจ้าหน้าที่ Fed สายพิราบ ที่สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์ และหนุนราคาน้ำมันดิบ
- สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างรัฐบาลกลางอิรักและรัฐบาลเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ซึ่งปะทุขึ้นในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตน้ำมันดิบของอิรัก มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง หลังจากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการ “สงบศึก” ด้วยการหยุดการปะทะและระงับปฏิบัติการทางทหาร พร้อมทั้งมีการ “ระงับ” ผลการลงประชามติของชาวเคิร์ดที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงในการ “สงบศึก” ดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี สถานะข้อตกลงดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 3 - 9 เดือน โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่าเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการปรับลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังคงหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมัน หลังข้อตกลงสิ้นสุดลง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ที่คาดจะกลับมาดำเนินการผลิต หลังมีการหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉินจากพายุเฮอร์ริเคน Nate รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ต.ค.60 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดปริมาณการขุดเจาะลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับลดลงกว่า 13 แท่นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 737 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60
ข่าวเด่น