ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง
+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 พ.ย. 60 ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 729 แท่น แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 60
+ CFTC รายงานสถานการณ์การลงทุนสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 60 พบว่าผู้จัดการกองทุนมีปริมาณการถือครองสัญญาน้ำมันดิบสุทธิ (Gross Long Position) ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 387,488 สัญญา ซึ่งแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จากความหวังว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61
+ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยว่า ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันในจีน สำหรับปี 2560 ยังคงแข็งแกร่ง โดยความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 540,000 บาร์เรลต่อวัน
- ผู้เล่นในตลาด ยังคงจับตามองอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลังปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราวร้อยละ 13 จากกลางปี 2559 มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจีน หลังโรงกลั่นปรับเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่ยังคงแข็งแกร่งจากตะวันออกกลางและแอฟริกา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอินเดีย และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปเท่าไหร่ ในการประชุมโอเปกวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดยซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของรัสเซียที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปเพื่อทำการปรับลดอุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาด
การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบโลกค่อนข้างมาก รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่มากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 454.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกาณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น