ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน คาดตลาดยังปรับฐานจากแรงงขายรับงบ(06/11/60)


กลยุทธ์การลงทุน
  คาดว่าตลาดยังปรับฐานจากแรงงขายรับงบ สอดคล้องกับแรงขายต่างชาติ แต่คาดว่าแรงขายต่างชาติเริ่มเบาบาง และอาจหักล้างด้วยแรงซื้อ LTF ทำให้ดัชนีแกว่งตัว 1690-1710 จุดได้ Top picks ยังเลือกหุ้น Laggards PTTEP(FV@B118) เชื่อผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ขณะที่คาดว่างบจะดีขึ้นในงวดถัดไป และปี 2560 กำไรสุทธิจะเติบโต 50% และยังชื่นชอบ MINT(FV@50) ได้รับแรงหนุนช็อปช่วยชาติ  

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ... SET Index ปรับตัวลงเล็กน้อย 
  ศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนสลับในแดนบวก-ลบตลอดวัน ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1701.47 จุด ลดลงเล็กน้อย 0.46 จุด หรือ 0.03% มูลค่าการซื้อขาย 5.19 หมื่นล้านบาท ยังคงเห็นแรงขายรับงบฯ ในหลายๆ กลุ่มฯ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก นำโดย HMPRO ลดลงกว่า 3.91% ตามด้วย BJC ลดลง 2.36% และ ROBINS ลดลง 3.45% สำหรับกลุ่ม ICT ยังเผชิญแรงขายต่อเนื่อง โดยนักๆลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ในปีหน้าที่จะส่งผลต่อต้นทุนในแต่ละค่ายโดย ADVANC ลดลงอีก 1.60% DTAC ลดลง 2.19% และ TRUE ลดลง 2.56% ส่วน THCOM ฟื้นตัวขึ้น 4.13% หลังจากราคาหุ้นปรับฐานลงตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 
  กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี ปรับตัวโดดเด่น นำโดย หุ้นปิโตรเลี่ยม PTTEP เพิ่มขึ้น 1.42% ปิโตรเคมี  IRPC เพิ่มขึ้น 2.38% TOP เพิ่มขึ้น 0.26% IVL เพิ่มขึ้น 1.05% และ PTTGC เพิ่มขึ้น 1.61% เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่ราคายัง Laggard ตลาดฯ อยู่มาก โดยราคาหุ้น PTTGC ตั้งแต่ตลาดฯ ปรับฐานทะลุ 1600 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 3.62% ในขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น 7.30% โดยฝ่ายวิจัยคาดว่า กำไรในงวด 3Q60 อยู่ที่ 9.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% qoq หนุนจากค่าการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการกลับมาเดินเครื่องเต็มที่ของโรงงานโอเลฟินส์ I4-1 หลังจากหยุด shutdown ไปใน 2Q60 ราคา Fair value ปี 2561 อยู่ที่ 98 บาท เหลือ upside อีกกว่า 24.4% 
  สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ คาดดัชนีมีโอกาสรีบาวด์ดีดกลับขึ้นมาได้ โดยมีแนวต้านที่ 1708 และ 1716 จุด ตามลำดับ ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1695 จุด

ทรัมป์เดินหน้าเยือนเอเซีย vs ช็อปช่วยชาติเกิดแน่ปลายปีนี้  
  ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวแข็งแกร่ง เห็นได้จากตลาดแรงงาน ซึ่งพบว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตร(Nonfarm payrolls) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น  2.61 แสนราย แม้ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.1 แสนราย แต่เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.8 หมื่นราย (กระทบจากพายุเฮอริเคน)   หนุนให้อัตราการว่างงานเดือนนี้ เหลือ  4.1% (ต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี ตั้งแต่ ก.พ. 2544)  จาก 4.2% ในเดือน ก.ย.  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดเดือน ต.ค. อยู่ในระดับสูงที่ 2.2%yoy เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ทำให้มีช่องว่างราว 0.95% ยังหนุนให้  Fed ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่แต่ค่อยเป็นค่อยไป  
  และสัปดาห์นี้ การเดินทางเยือนเอเซียครั้งแรกตลอดสัปดาห์นี้ของประธานาธิปดี ทรัมป์ โดยกำหนด เยือนประเทศแรกคือ  ญี่ปุ่น วันที่ 6 พ.ย., เกาหลีใต้ 7 พ.ย. , จีน  9 พ.ย. และเวียดนาม 10 พ.ย. และฟิลิปปินส์   เชื่อว่า  นอกจากหารือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเกาหลีเหนือแล้ว น่าจะมีการเจรจากทางด้านการค้าอีกด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้ล้วนเกินดุลการค้ากับสหรัฐทุกประเทศ 
  ขณะที่ไทย กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยคือ จะออกมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปีติดต่อเป็นปีที่ 3 และระยะเวลามาตรการช็อปช่วยชาติจะเท่ากับปี 2559 ระยะเวลา 17 วัน (15-31 ธ.ค.2559) โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ อาทิ ค่าซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้า, ค่าอาหารในร้านหรือโรงแรม ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทมาลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นการกระตุ้นการบริโภคในช่วง 4Q60 และเป็นอีกปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยอีกตัวหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งออกที่สดใส และการลงทุนรัฐและเอกชน

ลดคุ้มครองเงินฝาก น่าจะดีต่อตลาดหุ้นในระยะกลาง-ยาว
  รัฐเตรียมเดินหน้า ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก  หลังจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)  เมื่อ 11 ส.ค. 2551   เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อยไม่ให้ได้รับผลกระทบในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ จะช่วยสถาบันการเงินสามารถชำระเงินคืนให้กับผู้ฝากเงินได้ ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ. และการจัดตั้งสถาบันฯ แต่แรกเริ่มนั้น มีการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน และจะลดเหลือ 50 ล้านบาท/บัญชี ตั้งแต่ 11 ส.ค. 54 จากนั้นจะลดเหลือ 25 ล้านบาท/บัญชี ตั้งแต่ 11 ส.ค. 58 และลดเหลือ 1 ล้านบาท/บัญชี ตั้งแต่ 11 ส.ค. 59 เป็นต้นไป 
  อย่างไรก็ตาม จากการประชุม ครม. เมื่อ 26 เม.ย. 59 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... เพื่อขยายระยะเวลาที่จะลดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท จากเดิม 11 ส.ค. 59 ออกไปเป็น  11 ส.ค. 63 โดยมีการทยอยปรับวงเงินคุ้มครอง
  ทั้งนี้ จากรายงานของ ธปท. ณ สิ้นเดือน ส.ค. 60 พบว่า ปริมาณเงินฝากรวมทั้งระบบอยู่ที่ 92.54 ล้านบัญชี  เป็นเงินฝากรวม 12.77 ล้านล้านบาท โดยผู้ฝากเงินรายย่อยที่มีเงินฝากในบัญชี 1 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 97.6% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด
  ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ผลจากการที่กฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่จะลดเหลือ 10 ล้านบาทในวันที่ 11 ส.ค. 61 และเหลือ 5 ล้านบาทในวันที่ 11 ส.ค. 62 และเหลือ 1 ล้านบาทในวันที่ 11 ส.ค. 63 นั้น ไม่กระทบต่อต้นทุนต่อ ธ.พ. แต่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินไปยังบัญชีอื่นๆ รวมทั้งไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และอาจทำให้เกิดการแข่งขันของบรรดาสถาบันการเงินต่างๆ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากเม็ดเงินส่วนหนึ่งน่าจะกระจายการลงทุนมายังตลาดทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่สุงกว่าการฝากเงิน

หุ้นมือถือ และดาวเทียมถูกกดดันจากภาครัฐ แต่น่าจะสะท้อนราคาแล้ว 
  หุ้นกลุ่ม ICT ตกหนักในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดจาก 2 ปัญหาหลัก คือ รัฐต้องการยึดคืนดาวเทียมดวกที่ 7 และ 8 ของ  THCOM และการประมูลคลื่นรอบใหม่ ซึ่งเป็นคลื่นของ DTAC ที่ครบกำหนดปี 2561 ดังนี้ 
  ราคาหุ้น THCOM ลดลง 30%  จากระดับ 17.5 บาทเมื่อ 12 ต.ค. 2561  ต่ำสุด 12.1 บาทเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะกังวลที่รัฐต้องการดึงดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 (ให้บริการแพร่ภาพ ครบกำหนด 2575) กลับสู่ระบบสัมปทาน (ต้องสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ให้ภาครัฐ ซึ่งเดิมเคยอยู่ภายใต้กระทรวง ICT ก่อนที่จะโอนมาอยู่ภายใต้การดูและรับผิดชอบของ กสทช) ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ที่ 22.5% จากปัจจุบันที่อยู่บนระบบใบอนุญาต ซึ่งไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในดาวเทียบมให้กับ กสทช.  ซึ่งการดำเนินงานภายใต้ใบอนุญาตถือว่ารัฐเสียประโยชน์ 
อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานภาครัฐที่ขาดประสบการณ์ และไม่มีประสิทธิในการบริหารงานเมื่อเทียบกับเอกชน โดยเฉพาะ THCOM คาดว่าทางออกที่นับว่าเลวร้ายสุดที่จะเกิดกับ THCOM  เมื่อดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ครบกำหนดในปี 2575 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า การยิงดาวเทียมดวงใหม่จึงน่าจะกลับไปยู่ภายใต้สัมปทาน  ทั้งในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่ 22.5% และโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ  ซึ่งนักวิเคราะห์  ASPS  ได้ใช้สมมติฐานนี้ในประมาณการอยู่แล้ว 
  การจะใช้อำนาจในการยึดคืน พร้อมกับเปลี่ยนแปลงสัญญานใด ๆ ก่อนครบกำหนดถือว่าเป็นการกระทำเกินเหตุ และ ทำให้รัฐขาดความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนไทยและต่างประเทศ ขณะนี้  THCOM  จึงเตรียมนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และคาดต้องใช้เวลาอีกหลายในการหาข้อสรุป  
  ส่วน การ  สร้างดาวเทียมดวงใหม่  เพื่อทดแทนไทยคม 4 และ 5  ซึ่งปัจจุบันอยู่บนระบบสัมปทานเดิม (ภายใต้กระทรวงดิจิทัล)  จะสิ้นสุดอายุใช้งานปี 2564     ขณะนี้ ภาครัฐฯอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย ในขั้นตอนการพิจารณา สนช. ในวาระที่ 2  โดยจะให้อำนาจ กสทช.  ในการขอสิทธิ์วงโคจรและการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศ (จากเดิมที่การขอวงโคจรทำหน้าที่โดยกระทรวงดิจิตอล ขณะที่การขอใบอนุญาตกับ กสทช.)  ซึ่งน่าจะผ่อนคลายลง ทำให้การให้บริการลูกค้าบนดาวเทียมดวงที่ 4 และ 5 ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รวมไว้ในประมาณการแล้วเช่นกัน   จึงเชื่อว่าราคาหุ้น  THCOM (FV@B25) สะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว ยังแนะนำให้สะสม เพื่อลงทุนระยะยาว   
  ขณะที่หุ้นมือถือ ความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น   หลัง กสทช. มีการประกาศร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น   900 และ 1800  ของ DTAC  ที่จะหมดอายุ ก.ย. 61  5 Mhz  (1 ใบอนุญาต) และ 45 Mhz  (3 ใบอนุญาต)   ตามลำดับ เบื้องต้นภาครัฐได้กำหนดราคาประมูล เท่ากับครั้งล่าสุดที่ถือว่าแพง มากคือ คือ 1800 MHz อยู่ที่ใบละ 3.79 หมื่นล้านบาท  อายุ 15 ปี(ครั้งก่อนคลื่นเดียวกันอายุ 18 ปีนอยู่ราว 4.0 หมื่นล้านบาท )  และ 900 MHz อยู่ที่ใบละ 3.74 หมื่นล้านบาท (ครั้งก่อนอยู่ราว 7.6 หมื่นล้านบาท แต่กำลังให้บริการ 10 MHz อายุบริการ 15 ปีเท่ากัน) และเพิ่มค่าปรับสำหรับผู้ที่ชนะประมูล แต่ไม่จ่ายค่าใบอนุญาตเป็น 20% ของราคาตั้งต้นจากเดิม 5% ซึ่งยิ่งจำกัดการเข้ามาของรายใหม่ โดยยังกำหนดผู้ประมูล N-1 เช่นเดิม   จึงคาดว่าจะมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ  3 ราย  ซึ่งอาจส่งผลให้ 1 รายไม่ได้คลื่นใหม่ 
  ฝ่ายวิจัยยังมั่นใจว่า ADVANC จะเป็นผู้ชนะประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ จากจุดแข็งสถานะการเงินที่มีความพร้อม จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ของ ADVANC เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 6.0 หมื่นล้านบาท และจำเป็นต้องได้คลื่นมาเพิ่ม เพื่อรองรับลูกค้ามากสุด ส่วนอีก 1 ใบ  จะเป็น TRUE หรือ  DTAC   หากพิจารณาตามความจำเป็นต้องได้คลื่นทดแทนคลื่นเดิม น่าจะเป็น DTAC ที่ต้องสู้เต็มที่  ส่วน  TRUE  คลื่นมีเหลือเฟือ แต่ทั้ง 2 บริษัทมี CFO  ใกล้เคียงกันที่ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี   แต่ DTAC ยังมีข้อได้เปรียบที่ไม่มีภาระค่าคลื่นในรอบประมูลครั้งก่อนเหมือน TRUE การแข่งขันยังรุนแรงอยู่
  อย่างไรก็ตาม  การสรรหา  กสทช. ชุดใหม่ ที่จะเข้าแทนชุดเดิมที่หมดวาระไปแล้ว  อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เกณฑ์หรือบังคับ   รวมถึงกระบวนการที่ยังต้องนำร่างหลักเกณฑ์ไปผ่านการปรับปรุงหลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (คาด ธ.ค. 60)  เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม 
ส่วน INTUCH (FVB72.4)  เนื่องจากถือหุ้น THCOM  41.15%  และ ADVANC 40.45% จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ราคานี้ถือว่าน่าสะสม รับเงินปันผลราว 4.68% 

ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าแรงขายหุ้นไทยจากต่างชาติเริ่มมีจำกัด
  วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 312 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวที่ยังซื้อสุทธิ 12 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งที่ยังขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 210 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 44 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), ไต้หวัน 1 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), และไทยที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิอีกกว่า 70 ล้านเหรียญ หรือ 2.33 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 7 วัน มีมูลค่ารวมกว่า 1.25 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 807 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)

  แม้ล่าสุดต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยติดต่อกันกว่า 7 วัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแรงขายน่าจะมีจำกัด เนื่องจากแรงซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในรอบใหม่ (นับตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 60 เป็นต้นมา) เคยทำจุดสูงสุดคิดตามมูลค่าตลาดที่ 2.36 หมื่นล้านบาท (ณ 16 ต.ค. 60) แล้วมีการขายทำกำไรออกมาจนทำให้ยอดซื้อสุทธิถึงปัจจุบัน เหลือเพียง 2.73 พันล้านบาทเท่านั้น (ณ 3 พ.ย. 60) และเมื่อนับสะสมจากต้นปี 2560 มียอดซื้อสุทธิพลิกกลับมาติดลบอีกครั้งราว 2.49 พันล้านบาท (ytd) ด้วยเหตุนี้ทำให้คาดว่าแรงขายต่างชาติน่าจะเริ่มเบาบางลงในช่วงที่เหลือของปี แต่มีแรงหนุนจากแรงซื้อ LTF เข้ามาช่วยพยุงตลาดแทน 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 พ.ย. 2560 เวลา : 12:29:40

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:03 am