ราคาน้ำมันดิบปรับตัวต่อหลังสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มและจีนนำเข้าน้ำมันดิบลดลง
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มแตะระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวันมากสุดในรอบตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ 3 พ.ย. เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล
- ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจีนในเดือน ต.ค. ปรับลดลงจาก 9 ล้านบาร์เรลในเดิอน ก.ย.แตะระดับ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวันต่ำสุดในรอบ 13 เดือนเนื่องจากโควต้าการนำเข้าน้ำมันดิบของโรงกลั่นเอกชนหลายแห่งใกล้ครบปริมาณที่กำหนดไว้ โดยรัฐบาลคาดโควต้าการนำเข้าน้ำมันดิบของโรงกลั่นเอกชนในปี 2561 จะมากกว่าปี 2560 กว่าร้อยละ 55
+ ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเพิ่มขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียกล่าวหาเลบานอนต่อการเพิกเฉยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งถูกหนุนหลังโดยอิหร่าน ว่าเป็นการก่อกบฏ และการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลบานอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาของนายซาอัด อัล-ฮารีรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบีย โดยการกล่าวโทษอิหร่านและกลุ่มฮิสบอลลาห์ นับเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งให้ยิ่งทวีเพิ่มขึ้น
+ กลุ่มโอเปกคาดความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงปรับเพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลงและยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบหยุดเติบโตในช่วงกลางปี 2573 อย่างไรก็ตาม OPEC คาดส่วนแบ่งทางการตลาดจะเติบโตจากร้อยละ 40 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2583
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันอย่างต่อเนื่องของปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นน้ำมันปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อกักตุนสินค้าตามฤดูกาลภายหลังจากการปิดซ่อมบำรุงในช่วงที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลยังคงถูกกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศไต้หวัน ขณะที่อุปสงค์ยังคงทรงตัวและไม่สามารถรองรับอุปทานได้
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปเท่าไหร่ ในการประชุมโอเปกวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดยซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของรัสเซียที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปเพื่อทำการปรับลดอุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาด
การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบโลกค่อนข้างมาก รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่มากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น