ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังซาอุดิอาระเบียลดการส่งออกน้ำมันดิบต่อเนื่อง
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หลังได้รับแรงหนุนจากซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. ลงกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวันจากระดับการส่งออกในเดือน พ.ย. ที่ประมาณ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปก โดยซาอุฯ จะลดการส่งออกไปยังทุกประเทศ สำหรับสหรัฐฯ จะถูกปรับลดการส่งออกลงราวร้อยละ 10 จากเดือนก่อนหน้า
+ กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกจะมีการประชุมหารือสำหรับการขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตในวันที่ 30 พ.ย. โดยคาดกลุ่มผู้ผลิตมีแนวโน้มขยายระยะเวลาออกไป 3 - 9 เดือนจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61
+ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงทวีความรุนแรงขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียกล่าวหาเลบานอนต่อการเพิกเฉยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งถูกหนุนหลังโดยอิหร่านและการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลบานอนซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่ากษัตริย์ซาอุฯ เตรียมสละราชสมบัติให้มกุฏราชกุมาร Mohammed Bin Salman ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายอำนาจมากขึ้น
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 3 พ.ย. ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526 ที่ระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้ หลังราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ และสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงแรงซื้อในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากศรีลังกา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากการส่งออกของอินเดียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังยังไม่มีประเทศใดคัด ค้านข้อตกลงนี้ นอกจากนี้เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่า โอเปกกำลังหาทางบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การโจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังสนามบินนานาชาติคิงคาลิดทางเหนือของกรุงริยาด ซึ่งกระทำโดยกลุ่มกบฏฮูธีในเยเมน รวมถึงเหตุการณ์ในเลบานอนที่มีการเพิกเฉยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งหนุนโดยอิหร่าน ประกอบกับ นายกรัฐมนตรีเลบานอนของนายซาอัด ฮาริรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบียประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 67,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น