แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 พ.ย. – 17 พ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. นี้ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์กล่าวหาว่า อิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปัญหาความไม่สงบในเยเมน และเลบานอน ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในไนจีเรีย ที่คาดว่าจะปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังกลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers ยุติการประกาศหยุดยิง ขณะที่ การปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังยังไม่มีประเทศสมาชิกใดคัดค้านข้อตกลงนี้ นอกจากนี้เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่า โอเปกกำลังหาทางบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นวันที่จะต้องดำเนินการตัดสินใจ
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การโจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังสนามบินนานาชาติคิงคาลิดทางเหนือของกรุงริยาด ซึ่งกระทำโดยกลุ่มกบฏฮูธีในเยเมน อย่างไรก็ตาม อิหร่านออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่มกบฏฮูธีแต่อย่างใด
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในไนจีเรียซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังกลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers ยุติการประกาศหยุดยิง เนื่องจากหมดความศรัทธาในตัวผู้นำท้องถิ่น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน และมลพิษที่เกิดจากน้ำมันในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม นายมูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีไนจีเรีย เผยว่าจะเดินทางไป Delta ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นในประเทศยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุด ปรับลดลงราว 11.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 799.9 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสกับเบรนท์ที่สูงขึ้น เป็นแรงจูงใจให้มีแรงซื้อน้ำมันดิบสหรัฐฯ มากขึ้น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 67,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 พ.ย. - 10 พ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งเป็นสองผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังซาอุดิอาระเบียกล่าวโทษอิหร่านว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฎฮูธีในเยเมน และกลุ่มฮิสบอลลาห์ในเลบานอน รวมถึง การกระชับอำนาจของเจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หลังทรงมีคำสั่งควบคุมตัวเจ้าชายและรัฐมนตรีหลายสิบคนในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไป หลังจากที่ข้อตกลงนี้จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 61 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ่น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ข่าวเด่น