ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น จากข่าวการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแคนาดามายังสหรัฐฯ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบจากแคนาดาไปยังสหรัฐฯ ปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินหลังพบน้ำมันดิบรั่วไหลออกมา จึงทำให้มีการปรับลดการส่งออกลงกว่าร้อยละ 85 ของกำลังการจ่ายน้ำมันของท่อที่ 590,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งตลาดคาดว่าท่อขนส่งดังกล่าวจะใช้ระยะเวลากว่า 4 สัปดาห์ในการปิดซ่อมแซม
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า ปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมแซมของท่อขนส่งน้ำมัน Keystone
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแตะระดับสูงกว่ากลางปี 59 ที่ระดับ 9.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนักวิเคราะห์คาดว่าถ้าการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้าอาจทำให้การปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกมีความกดดันอย่างมาก
- จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 9 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 747 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯ ที่ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานจากจีนยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 56-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมโอเปกในวันที่ 30 พ.ย. 60 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปเท่าใดจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 โดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้มีการออกมากล่าวสนับสนุนการลดการผลิตออกไป 9 เดือนถึงเดือน ธ.ค. 61 เพื่อเป็นการลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ลงสู่ระดับเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปอีก 9 เดือน หลังปริมาณน้ำมันน้ำมันคงคลังล่าสุดในเดือน ก.ย. ยังสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ประมาณ 154 ล้านบาร์เรล
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้น จากเหตุการณ์การกวาดล้างคอรัปชั่นภายใต้การนาของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎหราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย เหตุการณ์ดังกล่าวนับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองในซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale oil ในเดือน ธ.ค. มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 6.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น