กลยุทธ์การลงทุน
แรงขายต่างชาติยังกดดัน SET ผันผวน และมีโอกาส บวก-ลบใกล้ 1700 จุด ก่อนสิ้นปีนี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังมีน้ำหนักหนุน Fund Flow ไหลออกระยะสั้น ๆ และหักล้างแรงหนุน LTF ส่วนปัญหาไข้หวัดนกในเกาหลีใต้ น่าจะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นต่อ CPF, GFPT กลยุทธ์การลงทุนให้สะสมหุ้น Laggard ที่มีปันผล (PTTEP, BANPU และ INTUCH) Top pick เลือก CPF (FV@B30.8) ราคาลงลึกจนมี P/E ต่ำและเงินปันผล 4.2% และ upside 26.7%
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ถูกขายทำกำไร กดดันตลาดปิดลบ
วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไรหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยตลอดทั้งวันดัชนีแกว่งตัวในทิศทางขาลงก่อนจะปิดตลาดที่ 1702.17 จุด ลดลง 4.35 จุด หรือ 0.25% มูลค่าการซื้อขายกว่า 5.23 หมื่นล้านบาท แม้จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเลี่ยม โดย PTT เพิ่มขึ้น 1.42% ตามด้วย PTTEP เพิ่มขึ้น 0.8% หลังราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ แต่โดยภาพรวมหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีกซึ่งถูกแรงขายทำกำไรกดดันราคาหุ้นทั้ง BEAUTY ลดลงแรงกว่า 9% COM7 ลดลง 4.40% BJC ลดลง 1.7% และ MEGA ลดลง 4.19% ตามด้วยกลุ่มอาหาร ทั้ง MINT BR CBG ICHI และ TKN ลดลง 1.18%, 2.63%, 3.5%, 2.3% และ 3.7% ตามลำดับ ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับลดลงแรงคือ THG ลดลง 12% MCS ลดลง 5.97% PRM ลดลง 5.9% และ WHA ลดลง 4.26%
ขณะที่กลุ่มเช่าซื้อฟื้นตัวแรงสวนตลาด คือ THANI เพิ่มขึ้น 1.6% และ SAWAD เพิ่ม 5% ซึ่ง SAWAD ยังเป็นหนึ่งในหุ้นที่ฝ่ายวิจัยคาดว่ามีโอกาสถูกคัดเข้าคำนวณทั้ง SET50 และ SET100 อีกด้วย
แนวโน้มตลาดวันนี้ คาดดัชนีน่าจะยังแกว่งตัวในกรอบ 1690 – 1720 จุด แต่ด้วย downside ที่จำกัด น่าจะทำให้ดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวได้หลังจากนี้
เงินเฟ้อโลกขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน หนุนดอกเบี้ยขาขึ้น
นับจากที่ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเกินกว่า 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และ กำลังยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ดูเหมือนว่าแรงกดดดันต่อเงินเฟ้อได้ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และบางประเทศพุ่งแรงกว่าคาด ทำให้การใช้นโยบายการเงินตึงตัวมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในอังกฤษ เงินเฟ้อ ล่าสุด ใน พ.ย. 3.1% แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี (หลังจากทรงตัว 3.0% ติดต่อกัน 2 เดือนก่อนหน้า) หลักๆ ยังเป็นผลจากราคาค่าโดยสารสาธารณะ โดยตั๋วเครื่องบินปรับสูงขึ้น และที่สำคัญมาจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าราว 10% นับตั้งแต่ Brexit และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะกลาง-ยาว หลังจากการเจรจา Brexit ล่าช้า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้า รวมถึง น้ำมันดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ เมื่อเทียบเงินเฟ้อที่สูงกว่า ดอกเบี้ยนโยบาย (3.1% vs 0.5%) ทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 4-5 ครั้ง ในปี 2561 หากพิจารณาในอดีตปี 2549-2550 เงินเฟ้ออังกฤษพุ่งขึ้นจาก 1.8% ม.ค. 2549 ไปแตะ 3.1% ในเดือน ม.ค.2550 พบว่าธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 4 ครั้งๆละ 0.25%ไปอยุ่ที่ 5.75% ดังรูป อย่างไรก็ตามการประชุม BOE พรุ่งนี้ 14 ธ.ค. ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะไปขึ้นปี 2561 แทน หลังจากขึ้นไปแล้ว 1 ครั้ง 0.25%ในเดือน พ.ย.
เช่นเดียวกับอินเดีย พบว่าเงินเฟ้อใน เดือน พ.ย. พุ่งแรงขึ้นมาอยู่ที่ 4.9%yoy (สูงสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน) จาก 3.58% ในเดือน ต.ค. เป็นผลจากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 7.75 %, อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4.14% และราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 7.92% ตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยยังสูงกว่า เงินเฟ้อ (6% vs 4.9%) ทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่ แต่น่าจะลดน้อยลง หลังจาก เดือน ส.ค.60 ที่ผ่านมาอินเดียได้ลดดอกเบี้ย 0.25% เป็น 6.0% เป็นครั้งแรกของปีนี้
ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) โดยวันนี้เป็นวันที่ 2 ระหว่าง 12-13 ธ.ค.(ทราบผลเช้าวันพรุ่งนี้) เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมรอบนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ราว 0.25% อยู่ที่ 1.5% เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ ตลาดแรงงาน สะท้อนจาก อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. อยู่ที่ 4.1% (ต่ำสุดในรอบ 17 ปี) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดยังอยู่ที่ 2.0% ตามเป้าหมาย โดยเชื่อว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว สะท้อนจากค่าเงินดอลลาร์ที่เดินแข็งค่าราว 1.3% นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. จนถึงปัจจุบัน แม้แนวโน้มตั้งแต่ต้นปียังอ่อนค่า 7.6%ytd
เกิดไข้หวัดนกในเนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ หนุนราคาไก่ในประเทศ เลือก CPF
ล่าสุดมีการเปิดเผยว่าเกิดไข้หวัดนกใน 2 ประเทศคือ ที่เนเธอร์แลนด์ (เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเป็ดในยุโรปของ BR ผ่านบริษัทย่อย DUCK-TO) เมื่อ 7 ธ.ค. และ เกาหลีใต้ เมื่อ (20 พ.ย. ทำให้มีการทำลายเป็ด และไก่ ในแหล่งที่พบ พร้อมกับควบคุมการเลี้ยงสัตว์ใน 2 ประเทศ ชั่วคราว ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมไก่ส่งออกของไทย เพราะปัจจุบันการส่งออกหลักยังกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดญี่ปุ่นและยุโรป ทั้งในรูปไก่สด และไก่ แปรรูป ขณะที่ตลาดเกาหลีเพิ่งกลับมาส่งออกในปี 2559 เป็นครั้งแรกหลังจากที่หยุดนำเข้ามาหลายปี จากปัญหาไข้หวัดนกในไทยเมื่อปี 2547 แต่เกาหลีใต้ยังนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจำนวนยังน้อย รวมทั้งราคาไก่หน้าโรงงาน ที่ตกต่ำต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อ กก. แม้ว่าได้ผ่านพ้นช่วงกินเจ มาแล้วก็ตาม และยังเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลการส่งออกงวด 4Q60 เมื่อเทียบกับงวด 2Q60 เป็นช่วงพีคของการส่งออกทุกปี (ผู้ผลิตและส่งออกหลักของไทยคือ สหฟาร์ม CPF, GFPT, TFG เป็นต้น)
ส่วนการผลิตและจำหน่ายเป็ดของ BR(FV@B9.75) ในประเทศจะจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก มีการส่งออกไปยุโรปบ้าง แต่ส่วนใหญ่การขายในยุโรปจะใช้กำลังการผลิตของบริษัทยของ BR ในยุโรป คือ บริษัท DUCK-TO ซึ่งมีกำลังการเลี้ยงและจำหน่ายเป็ดราว 9 ล้านตัวต่อปี แต่คาดว่าจะกระทบไม่มาก เพราะแหล่งผลิต ที่พบไข้หวัดนก เป็นแหล่งไม่มากราว 1 หมื่นตัว จึงคาดว่าผลกระทบน่าจะจำกัด ในระยะสั้น ๆ
และเมื่อพิจารณารวมจากผลกระทบกับเงินบาทที่แข็งค่า ทื่เชื่อว่ามาถึงจุดที่มีโอกาสลดลงจากนี้น้อย โดยรวมทำให้ ผลประกอบการโดยรวมของหุ้นในกลุ่มเกษตรและอาหารน่าจะชะลอตัวในงวด 4Q60 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะดีขึ้นในปี 2561 จะเติบโตราว 7% แต่หากพิจารณาเป็นรายหุ้นพบว่า CPF(FV@30.8) จะเติบโตสูงสุดที่ราว 43.6% เพราะปี 2560 เผชิญกับธุรกิจหมูที่ตกต่ำในประเทศเวียดนาม ซึ่ง CPF ถือหุ้นโดยตรงราว 25% ในซีพีเวียดนาม และอีก 50% ใน CPP ซึ่งผลิตและจำหน่ายอาหารครบวงจรในจีนและเวียดนาม (CPP เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง) ขณะราคาหุ้นปัจจุบันมี P/E 12.53 เท่า และมีเงินปันผลราว 4.12% จึงเลือกเป็น Top pick ของกลุ่ม
ส่วน GFPT(FVB22.9) ปี 2561 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตในอัตราที่น้อยเพียง 6.7% แต่ราคาหุ้นมี P/E 9.22 เท่า จึงแนะนำซื้อเช่นกัน แต่ชอบน้อยกว่า CPF
และสุดท้าย BR(FV@9.75) กระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่วานนี้ราคาหุ้นของ BR ได้ลดลงมาตอบรับประเด็นดังกล่าวแล้ว จนทำให้มี upside ราว 28% แนะนำทยอยสะสม โดย BR ยัง P/E 13.4 เท่า และ เงินปันผลราว 4%
ต่างชาติยังคงเดินหน้าขายหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
ประเด็นปฎิรูปภาษี และการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯในวันที่ 12-13 ธ.ค. 60 นี้ ยังคงกดดันให้วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 ด้วยมูลค่าอีก 617 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิกว่า 358 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยไต้หวัน 188 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 13), อินโดนีเซีย 49 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 9), ฟิลิปปินส์ 1 หมื่นเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิ 22 ล้านเหรียญ หรือ 706 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 ราว 9.95 พันล้านบาท) ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 1.01 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 กว่า 1.09 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.33 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิ 9.04 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
ข่าวเด่น