ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังคาดจะเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์แรก
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบคาดจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบเริ่มดำเนินการปิดซ่อมบำรุงประจำฤดูกาล โดยจากผลสำรวจนักวิเคราะห์ของสำนักข่าว Reuters คาดว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. จะเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 17 หากเทียบกับกลางปี 2559 แล้วมาอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเร็วนี้ โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 759 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 60
+ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอิรักเปิดเผยว่า อิรักยังคงเดินหน้าปรับลดปริมาณผลิตตามที่ตกลงไว้ที่ 210,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าอิรักจะมีความพยายามในการเพิ่มกำลังการส่งออกมากขึ้นก็ตาม
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้นในทวีปแอฟริกา ขณะที่อุปทานและอุปสงค์ในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับที่สมดุล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของอุปสงค์ในเอเชียที่ดีและอุปทานที่ตึงตัวในเอเชียเหนือ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นในไต้หวันที่มีการปิดซ่อมแซมฉุกเฉินหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 11 หลังความต้องการใช้น้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงและปริมาณการนำเข้าคาดจะอยู่ในระดับจำกัด โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงกว่า 47.41 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 411.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 39.2 ล้านบาร์เรล
จับตามองกำลังการผลิตของประเทศเวเนซุเอลา หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ลดลงมากกว่า 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปี 2559 มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี โดยเวเนซุเอลาได้เผชิญหน้ากับราคาน้ำมันตกต่ำตั้งแต่ในปี 2557 และภาวะเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ได้ยืมจากต่างประเทศได้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติได้สิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สามารถกลับมาเริ่มขุดเจาะได้ตามปกติ
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
หมายเหตุ ปตท.-บางจาก ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซล 30 ส.ต./ลิตร ส่วนราคากลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์คงเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 61 ราคาน้ำมันเป็นราคาขายปลีก กทม. และปริมณฑล ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น
ข่าวเด่น