ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังโอเปกเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่ยังคงปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังปรับลดลงมาสู่ค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยจากผลสำรวจของ Reuter พบว่าความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิต (Compliance rate) ของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 138% ในเดือน ม.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 137%
+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีที่ประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. เนื่องจากเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้และลงทุนในธุรกิจน้ำมันได้
- อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2513 โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 384,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 10.038 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) และการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอุปสงค์ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันและแรงซื้อจากอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. นี้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ
ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ม.ค. ปริมาณการผลิตลดลงสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเงินจากภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
หมายเหตุ ปตท.-บางจาก ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซล 30 ส.ต./ลิตร ส่วนราคากลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์คงเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 61 ราคาน้ำมันเป็นราคาขายปลีก กทม. และปริมณฑล ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น
ข่าวเด่น