แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 – 23 ก.พ. 61)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน หลังคาดความต้องการใช้น้ำมันดิบจะปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกที่ยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าต้นทุนการผลิต โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 798 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดจะแตะระดับ 11.13 ล้านบาร์เรลต่อวันในสิ้นปี 2561
? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล มาแตะระดับ 422.1 ล้านบาร์เรล
? การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต โดยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 137% ซึ่งสูงกว่าความร่วมมือในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 99% เนื่องจากซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของวิกฤติทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
? ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง จากอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงตึงตัวอย่างต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียออกมาให้ความเห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตยังไม่มีแผนที่จะเลิกกลยุทธ์ในการปรับลดกำลังการผลิต ในช่วงกลางปีนี้ตามที่รัสเซียได้มีการเสนอ รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดในปี 2561 ความต้องการใช้น้ำมันจะเติบโตสูงขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า
? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 – 16 ก.พ. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61,68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนปรับการลงทุนไปยังตลาดหุ้นและตลาดเงินต่างประเทศ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตสหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับปริมาณแท่นขุดเจาะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 7 แท่นในสัปดาห์ที่แล้วมาอยู่ที่ 798 แท่น
ข่าวเด่น