ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับขึ้น หลังสต๊อกสหรัฐฯ ปรับลดและตลาดคาดขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับขึ้นราวร้อยละ 0.4 หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง ประกอบกับตลาดตอบรับแถลงการณ์ของกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงราวร้อยละ 0.6 จากแรงกดดันของเงินดอลล่าร์ที่แข็งค่าขึ้น
+ GenScape รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับลดลงกว่า 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี เป็นผลต่อเนื่องจากปริมาณการขนส่งของท่อส่งน้ำมันดิบ Keystone ที่ปรับลดลงตั้งแต่มีการรั่วไหลในเดือน พ.ย. 60 โดยบริษัท TransCanada ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่อส่งน้ำมันดิบดังกล่าวเผยว่า ในปัจจุบันได้ให้บริการขนส่งน้ำมันดิบด้วยแรงดันที่ต่ำกว่าปกติ และยังไม่สามารถเพิ่มการขนส่งผ่านทางรถไฟได้จากความหนาแน่นของการให้บริการ
+ นาย Suhail al-Mazroui ประธานกลุ่มโอเปกเผยว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปกเล็งหารือถึงการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตต่อไปจากปี 61 ในการประชุม ณ กรุงเวียนนา เดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย
+ นาย Ayed Al Qahtani หัวหน้าหน่วยวิเคราะห์ของกลุ่มโอเปก เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ได้ปรับลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี เพียง 74 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นในประเทศอินเดีย ประกอบกับการส่งออกของประเทศจีนในช่วงเวลาปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอยู่ระหว่างช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยถูกกดดันจากอุปทานของประเทศอินเดียและตะวันออกกลางที่เข้าสู่เอเชีย หลังไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังตะวันตกได้เนื่องจากขาดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าต้นทุนการผลิต โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล มาแตะระดับ 422.1 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต โดยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 137% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 99% หลังซาอุดิอาระเบียเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของวิกฤติทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
หมายเหตุ ปตท.-บางจาก ปรับลดราคาน้ำมันทุกชนิด 50 ส.ต./ลิตร ยกเว้น E85 ปรับลด 30 ส.ต./ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 61 ราคาน้ำมันเป็นราคาขายปลีก กทม. และปริมณฑล ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น
ข่าวเด่น