สภาวะตลาดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,324.10-1,330.73 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,850 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 150 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 20,000 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFG18 อยู่ที่ 19,920 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 130 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 20,050 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 16.06 น. ของวันที่ 21/02/61)
แนวโน้มวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เพิ่มความกังวลว่าเศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินไป ส่งให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทะยานสูงขึ้นและเกิดความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าความคาดหมาย สถานการณ์ดังกล่าวกดดันราคาทองคำให้อ่อนตัวลงสวนทางกับดัชนีดอลลาร์ที่ปรับขึ้นตามผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีซึ่งเข้าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่กระทรวงการคลังขายพันธบัตรอายุ 3 เดือน มูลค่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และพันธบัตรอายุ 6 เดือน มูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ที่เสนอในการประมูลสำหรับทั้ง 2 ประเภท และขายโดยมีผลตอบแทนสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี อย่างไรก็ตามราคาทองคำได้รับแรงหนุนพยุงไว้จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ระบุว่า รัสเซียเพิ่มการถือครองทองคำ 18.911 ตัน สู่ 1,857.73 ตัน ในเดือนม.ค. 2561 ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียเปิดเผยว่าทองคำสำรองของรัสเซียอยู่ที่ 59.7 ล้านออนซ์ ณ ช่วงต้นเดือนก.พ. นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะประมูลการขายพันธบัตรอายุ 5 ปีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะประมูลพันธบัตรอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัว มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพุธ และการประมูลพันธบัตรอายุ 7 ปี มูลค่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ดีแนะนำติดตามรายงานการประชุมกำหนดนโยบายครั้งล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป(ECB) ในวันพฤหัสบดี เพื่อเป็นปัจจัยชี้นำสกุลเงินยูโร ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำ นอกจากนี้ติดตามแรงซื้อแรงขายจากตลาดจีนที่จะเปิดทำการอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้ หลังหยุดยาวประมาณ 1 สัปดาห์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตามราคาทองคำในประเทศได้รับแรงหนุนจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ สำหรับมุมมองของราคาทองคำนั้น ประเมินแนวรับบริเวณ 1,326-1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาไม่หลุดโซนนี้ จะมีแรงดีดตัวขึ้นไป แต่หากไม่สามารถผ่านแนวต้าน 1,335-1,345 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ ก็อาจจะเกิดแรงขายอีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า หากราคาสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,326-1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง คาดว่าราคาจะขยับขึ้นทดสอบแนวต้าน อย่างไรก็ตามเมื่อราคาขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,335-1,345 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยังไม่สามารถผ่านไปได้แนะนำขายทำกำไรบางส่วน แนะนำนักลงทุนเข้าซื้อเมื่อราคามีการย่อตัวเข้าใกล้บริเวณแนวรับ 1,326-1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาไม่หลุดแนวรับราคาทองคำยังมีโอกาสค่อยๆขยับขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไป แต่หากราคาหลุดโซนดังกล่าวจะปรับตัวลงไปต่อ โดยมีแนวรับถัดไปที่บริเวณ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,326 (19,750บาท) 1,313 (19,550บาท) 1,300 (19,350บาท)
แนวต้าน 1,345 (20,100บาท) 1,352 (20,200บาท) 1,366 (20,400บาท)
GOLD FUTURES (GFG18)
แนวรับ 1,326 (19,880บาท) 1,313 (19,680บาท) 1,300 (19,490บาท)
แนวต้าน 1,345 (20,170บาท) 1,352 (20,270บาท) 1,366 (20,480บาท)
ข่าวเด่น