สภาวะตลาดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,314.90-1,319.42 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,700 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 100 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,800 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFJ18 อยู่ที่ 19,750 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 170 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,920 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.08 น. ของวันที่ 28/02/61)
แนวโน้มวันที่ 02 มีนาคม 2561
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานคนใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยถ้อยแถลงระบุถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ตลาดมองว่าเป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ หนุนให้ดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ สอดคล้องกับ Conference Board เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 17 ปีในเดือน ก.พ. จนกดราคาทองคำให้อ่อนตัวลง ทั้งนี้ทองคำได้รับแรงกดดันเพิ่มจากสกุลเงินยูโรที่อาจจะอ่อนค่าลง ในช่วงที่อิตาลีเตรียมที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ และพรรคการเมืองชั้นนำในเยอรมนีเตรียมตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมที่อาจจะทำให้นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 อย่างไรก็ตามนักลงทุนจับตาทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงถัดไป เพื่อเป็นปัจจัยชี้นำราคาทองคำ อย่างไรก็ตามแบบจำลองคาดการณ์เศรษฐกิจ GDP Now ของเฟดสาขาแอตแลนตา แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวในอัตรา 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสแรก ชะลอตัวกว่าอัตราการขยายตัว 3.2% ที่คำนวณไว้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นอกจากนี้ราคาทองคำได้รับแรงหนุนเพิ่มเมื่อดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ในการดำเนินการซื้อตราสารหนี้ปกติ ประกอบกับดอลลาร์อาจจะเผชิญอุปสรรคเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อันเป็นผลจากความเป็นไปได้ที่จะมีการเทขายดอลลาร์จากนักลงทุนญี่ปุ่นก่อนสิ้นปีงบการเงินของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดทองคำยังคงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินดอลลาร์ เบื้องต้นประเมินว่าหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,313-1,309 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ มีโอกาสที่จะเกิดแรงซื้อดันราคาทองคำขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1,324 หรือ 1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน วายแอลจีแนะนำ สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำในมือ แนะนำให้รอซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับที่ 1,313-1,309 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุดแนวรับดังกล่าว) และให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาหลุดบริเวณแนวรับ เพื่อลดความเสียหายของพอร์ทการลงทุน ในขณะที่นักลงทุนที่มีทองคำในมือ ให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือบริเวณแนวต้าน 1,324 หรือ 1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วรอไปซื้อคืนบริเวณแนวรับสำคัญ สำหรับสถานะขายตัดขาดทุนหากราคาสามารถผ่านแนวต้าน 1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,309 (19,450บาท) 1,298 (19,250บาท) 1,286 (19,100บาท)
แนวต้าน 1,324 (19,750บาท) 1,333 (19,850บาท) 1,345 (20,000บาท)
GOLD FUTURES (GFJ18)
แนวรับ 1,309 (19,620บาท) 1,298 (19,450บาท) 1,286 (19,280บาท)
แนวต้าน 1,324 (19,850บาท) 1,333 (19,980บาท) 1,345 (20,160บาท)
ข่าวเด่น