ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 2% ตามตลาดหุ้น ท่ามกลางความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าโลก
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมากกว่า 2% เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการทรุดตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้า หลังจากที่นายแกรี่ โคห์น หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะปกป้องภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นจุดชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามการค้าโลก
-/+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ สู่ระดับ 425.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง ปรับลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 28.8 ล้านบาร์เรล
- EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า สู่ระดับเฉลี่ย 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และจะทะยานสู่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 ซึ่งอาจจะทำให้สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในเร็วๆ นี้ ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าซาอุดิอาระเบียในปีที่แล้ว
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความต้องการสำรองน้ำมันเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลขับขี่ในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปที่ตึงตัวขึ้น หลังจากโรงกลั่นเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง หลังจากใกล้สิ้นสุดฤดูหนาว
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2513 ที่ระดับ 10.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มี.ค.) และคาดว่าจะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้ โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวขึ้น
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตในระดับที่ดีขึ้น โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่ามากขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการลงทุนในน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น
จับตาสถานการณ์ในลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศจากการประท้วงของแรงงานและเกิดเหตุระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบแถวเมือง Zawiya ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตและประกาศเหตุสุดวิสัย(Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 978,000 บาร์เรลต่อวัน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
หมายเหตุ ปตท.-บางจาก ปรับลดราคาน้ำมันทุกชนิด 50 ส.ต./ลิตร ยกเว้น E85 ปรับลด 30 ส.ต./ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 61 ราคาน้ำมันเป็นราคาขายปลีก กทม. และปริมณฑล ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น
ข่าวเด่น